ก.อุตฯ พบ ‘อีสาน-กลาง’ ลอบเผาอ้อยเตรียมส่งขาย กำชับโรงงาน หยุดซื้อ
กระทรวงอุตสาหกรรม กำชับโรงงานรับ “เฉพาะอ้อยสดคุณภาพดี” เข้าหีบ หลังพบ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคกลาง ลักลอบเผาอ้อย เตรียมส่งขาย 3 มกราคม นี้
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อยเข้าหีบ 7 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 ซึ่งโรงงานน้ำตาลได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งผลต่อการลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และทำให้อากาศสะอาดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่
แต่ล่าสุดได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 – 30 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบเผาอ้อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ซึ่งสอดคล้องกับความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มกลับขึ้นมาสูงอีกครั้ง สันนิษฐานว่า การลักลอบเผาอ้อยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพื่อเตรียมการส่งอ้อยเข้าหีบในวันที่ 3 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่โรงงานน้ำตาลเริ่มกลับมาผลิตน้ำตาลทรายอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพและการประกอบอาชีพของประชาชนในวงกว้าง เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย
ทั้งนี้ เพื่อป้องปรามและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ประกอบกับใกล้ถึงวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 สอน. จึงทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ โดยการคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ
“การเผาไร่อ้อยนอกจากจะเป็นการกระทำผิดและฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังเป็นการเอารัดเอาเปรียบภาคธุรกิจอื่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างภาระให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากการเผาไร่อ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเป็นการเผาอ้อยยืนต้นที่มีความสูงราว 3-4 เมตรเพื่อเอาใบออก ซึ่งอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 10 ล้านตันเทียบเท่าได้กับการเผาป่า 1 ล้านไร่ ทำให้ก่อมลพิษฝุ่น PM2.5 ในปริมาณสูงมาก สามารถคงค้างอยู่ในบรรยากาศเป็นระยะเวลายาวนานและแผ่ขยายได้ตามทิศทางลม จึงปกคลุมหนาแน่นทั่วพื้นที่ในบริเวณที่มีประชนชนอาศัยอยู่ทั้งในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนของทุกปี ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่ทวีความรุนแรงและส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนผู้หายใจอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อยเหล่านี้ จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่อง จัดการและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรับผลกระทบจากเรื่องนี้” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ความร่วมมือกันของโรงงานน้ำตาล เกษตรกรชาวไร่อ้อย และส่วนราชการ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนในการลบภาพจำของประชาชนว่า “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นจำเลยของสังคม” ให้เป็นภาพจำใหม่ของประชาชนที่ว่า “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย สร้างคุณค่า เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีของไทย”