ศุลกากรรุกหนัก! จับสินค้าผิด กม. – คุมเข้มตรวจสินค้านำเข้าสุดๆ

กรมศุลกากรขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง ล่าสุด เปิดปฏิบัติการ “รุกหนัก!” ปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย ผ่านมาตรการคุมเข้มตรวจสินค้านำเข้า พบสินค้าลักลอบ ทั้งกลุ่มมีคุณภาพต่ำและสารพัดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก คิดเป็นมูลค่ากว่า 29 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ “โฆษกกรมศุลกากร” เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพและสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย เพี่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการนำเข้าสินค้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้อง

“โฆษกกรมศุลกากร” กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นของไม่ตรงตามสำแดง ของต้องห้าม ของต้องกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีคดีที่น่าสนใจ ดังนี้

กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการตรวจค้น สินค้าที่นำเข้ามาทางบก ณ ด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรนครพนม ผลการตรวจสอบพบสินค้าประเภท กระเป๋าและรองเท้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เครื่องสำอางและเมล็ดกาแฟ ที่ไม่มีใบอนุญาตจาก อย. รวมถึง วัตถุลามก บุหรี่ไฟฟ้า นมผง และสินค้าอื่นๆ ซึ่งสินค้าดังกล่าว มีเมืองกำเนิดจากต่างประเทศบรรจุปะปนมากับตู้สินค้า ซึ่งเป็นของที่ไม่ตรงตามสำแดง ของต้องห้าม และของต้องกำกัด มูลค่า 6 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรมุกดาหาร ตรวจยึดสินค้าประเภท รองเท้ากีฬา เสื้อกีฬา ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเต้ารับไฟฟ้า แผ่นมาร์คหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า เครื่องวิทยุสื่อสาร พลาสเตอร์บรรเทาปวด น้ำมันนวดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย บุหรี่ต่างประเทศ ตู้คีบตุ๊กตา และสินค้าอื่น ๆ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ มูลค่า 2 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 208 มาตรา 243 มาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบ มาตรา 166 มาตรา167 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่จึงอายัดสินค้าดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง ได้ทำการตรวจสอบชายสัญชาติลาว เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบวัตถุคล้ายทองคำ ลักษณะเป็นแท่ง รวมทั้งสิ้น 3 รายการ ซึ่งเป็นของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร มูลค่า 4.85 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 มาตรา 167 และมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรหนองคาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจช่องทางรถโดยสารขาเข้าประเทศ ได้ทำการตรวจค้นรถบัสท่องเที่ยวระหว่างประเทศ นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ขับขี่พร้อมผู้โดยสารรวม 8 ราย ผลการตรวจค้นพบสินค้าประเภทเครื่องยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า รวมมูลค่า 5.8 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคาย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ปกป้องสังคม โดยเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าส่งออกสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ทำการจับกุม ยาเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า  เมฟีโดรน MDMA  และช่อดอกกัญชา  รวมมูลค่าประมาณ 6.12 ล้านบาท  รวมถึงได้เคร่งครัดในการจับกุมบุหรี่ต่างประเทศ มูลค่า 2.52 ล้านบาท  บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่า 2.06 ล้านบาท  นอกจากนี้ สามารถตรวจยึดสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นของไม่ตรงตามสำแดง ของต้องห้าม ของต้องกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องสำอาง วัตถุลามก ตู้คีบตุ๊กตา ทองคำแท่ง Starlink นกแก้ว เป็นต้น

สำหรับสถิติการจับกุม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567)

–ยาเสพติดและช่อดอกกัญชา จำนวน 239 คดี มูลค่า 91.2 ล้านบาท

–บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 279 คดี มูลค่า 32.6 ล้านบาท

–บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 86 คดี มูลค่า 6.5 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password