พาณิชย์นัด 20 หน่วยงานวางกรอบแก้สินค้าไร้คุณภาพทะลักเข้าไทย หวังดูแลผู้บริโภค พ่วงยกระดับ SMEs ไทยเข้มแข็ง 

“รมช.พาณิชย์” สวมบทประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs นะดถก 20 หน่วยงาน หารือการจัดทำแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เดินหน้าคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค มุ่งแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพจากต่างชาติที่ทะลักเข้าไทย ก่อปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม เผย! เดินหน้าส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย พร้อมกำหนดแผนปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับ 20 หน่วยงาน ว่า “หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย 5 มาตรการหลัก (63 แผนปฏิบัติการ) ซี่งประกอบด้วยมาตรการในส่วนของการป้องกัน/กำกับดูแลสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและธุรกิจผิดกฎหมาย และมาตรการส่งเสริมพัฒนาต่อยอด SMEs ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยในการติดตามผลและประเมินความคืบหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานของแผนงานต่างๆ โดยทั้งหมดจะแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้เห็นผลภายในระยะเวลา 3 เดือน 2) ระยะกลาง เพื่อสร้างความคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ไทย 3) ระยะยาว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน และขยายตลาดสินค้า สร้างความยั่งยืนให้กับ SMEs ไทย พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพ และการประกอบธุรกิจ โดยคาดว่ามีระยะเวลาดำเนินการเกิน 1 ปี

สำหรับด้านการป้องกัน/กำกับดูแลได้มีการวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม จากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายทำให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกเข้ามาแข่งขันในประเทศจำนวนมาก โดยที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการด้านกฎหมายอย่างเคร่งครัด เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงที รวมทั้งออกมาตรการเพิ่มเติมให้รองรับกับสภาพปัญหาและรูปแบบการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ส่วนเรื่องการส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด มีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP จาก 35.2%ในปี 2566 เป็น 40% ภายในปี 2570 ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ในคณะอนุกรรมการฯ ได้วางแผนจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ งานแสดงสินค้า งานมหกรรมต่าง ๆ การสนับสนุนทุนและเครื่องมือในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SME ตลอดจนผลักดันผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการออกนิทรรศการในต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การประชุมหารือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและ SMEs ของไทยเป็นอย่างมาก และคาดหวังว่าการวางกรอบการดำเนินงานจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันโดยลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำ ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำตลาดของผู้ประกอบการไทย อีกทั้งการควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ช่วยให้สินค้าจาก SMEs ไทยได้รับความไว้วางใจและมีโอกาสในการขยายตลาดในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ SMEs ไทยในระยะยาว

สำหรับ 20 หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. กรมสรรพากร

2. กรมศุลกากร 

3. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

5. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

6. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

7. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

8. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

9. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

10. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

11. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

12. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

13. กรมทรัพย์สินทางปัญญา

14. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

15. กรมการค้าต่างประเทศ

16. กรมการค้าภายใน

17. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

18. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

19. สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

20. สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password