เฮ! เปิดช่องลูกหนี้ กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่ สนง.บังคับคดีทั่วไทย เริ่ม 15 พ.ย.นี้

กยศ. จับมือกรมบังคับคดี ช่วยลูกหนี้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ ได้ที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 พ.ย. 67 เป็นต้นไป เผย! หลังทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดทันที พร้อมดึงสถาบันอนุญาโตตุลาการ ติวเข้มบุคลากรนำไปสู่การระงับข้อพิพาทในอนาคต

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องสนฉัตร ชั้น 3 กระทรวงยุติธรรม ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรมบังคับคดี และ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี และ นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้กู้ยืม กยศ. และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางออกนอกภูมิลำเนา ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ผู้กู้ยืมสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ

ผจก. กยศ. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้กู้ยืมและแก้ไขหนี้ให้ประชาชน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่กรณีและความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม รวมถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน สำหรับ ความร่วมมือระหว่างกองทุนฯ กับกรมบังคับคดี จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้กู้ยืมเงินในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ณ สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดทันที โดยผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้นกองทุนฯจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% โดยผู้กู้ยืมสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

“สำหรับความร่วมมือกับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในระดับสากล โดยจะร่วมกับกองทุนฯ ดำเนินงานในการฝึกอบรม การสัมมนา การประชุมทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากรและกิจกรรมทางวิชาการในช่องทางต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาทในอนาคต” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password