โรงไฟฟ้าเอกชน VSPP ‘ยื่น 4 ข้อ’ ชงรัฐปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล
ตัวโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก (VSPP) ค้านมติที่ประชุม กพช. หลังบีบราคารับซื้อไฟฟ้ากรณีต่ออายุสัญญาโครงการฯจาก Adder เป็น FIT กดเหลือแค่ 2.28 บาท ทำขาดทุนยับ จนหลายรายขอปิดกิจการ พร้อมยื่น 4 ข้อเสนอ หวังรัฐบทวนปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
นางปาริฉัตร์ สรรพมงคลไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 จำกัด ซึ่งเป็นเป็น ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก VSPP กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ได้ทำหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังจากในปี 2556 คณะกรรมการ กกพ. มีนโยบายการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงไฟฟ้ารายใหม่ ในรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก Small Power Plant SPP และขนาดเล็กมาก VSPP โดยภาครัฐทำสัญญาและอนุญาตให้ขายไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประเภทเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เช่น แกลบ Rice Husk 500 บาท/ตัน เป็น 2,000 บาท/ตัน, ไม้ฟืน 500 บาท/ตัน เพิ่มเป็น 800 บาท/ตัน, ทะลายปาล์ม 150 บาท/ตัน เพิ่มเป็น 300-350 บาท/ตัน รวมถึงต้นทุนการผลิตทั้งค่าใช้จ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้า เครื่องจักรในระบบการผลิตไฟฟ้าค่าจ้าแรงงาน เงินกู้จากสถาบันการเงิน ทั้งหมดทำให้ต้นสูงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในการผลิตไฟฟ้า จนต้องขอหยุดการประกอบกิจการกันไปในเวลาต่อมา
จากนั้น วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้ากรณีต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FIT) ใหม่ในราคาหน่วยละ 2.28 บาท เป็นราคารับชื้อไฟฟ้าในราคาต่ำมาก ไม่สะท้อนต้นทุนทุนการผลิตที่แท้จริง ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าไม่สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายใต้การรับซื้อในราคาเพียงเท่านี้ ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่าเมื่อประกาศคณะกรรม กกพ. เห็นชอบโครงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็น Feed in Tariff(FIT) ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุสัญญา เพราะโรงไฟฟ้ายังคงมีอายุการใช้งาน 20 ปี ตามที่ออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้
ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) จึงขอคัดค้าน มติที่ประชุม กพช. (25 มิถุนายน 2567) กรณีรับซื้อไฟฟ้ากรณีต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็นFeed-in Taiff (FIT) ในราคาหน่วยละ 2.28 บาท ดังนี้
1. ราคาค่าไฟฟ้า หน่วยละ 2.28 บาท เป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ย ในการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย สูงกว่า 2.28 บาท
2. การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ ไม่ได้มีความแปรผันตามค่าเชื้อเพลิงชีวมวลแต่ละประเภทในแต่ละฤดู จึงเป็นราคาที่ไม่เหมาะสม
3. โรงไฟฟ้าแต่ละโรงยังคงมีศักยภาพ ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เนื่องจาก อายุของโรงงานยังเหลือยู่ หากต้องประกอบกิจการต่อไปโดยมีเงื่อนไขให้จำหน่ายไฟฟ้าได้เพียงราคาหน่วยละ 2.28 บาท ผู้ประกอบการ ต้องขาดทุนจนปิดกิจการทันที
และ 4. กรณี โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลรายเดิมต้องเลิกกิจการไป จะเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก หากส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ต้องลงทุนเพิ่ม 700 ล้านบาทต่อโรง และต้องใช้ ก่อสร้าง ทดสอบระบบ
สำหรับ บริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 จำกัด (บริษัท) เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก VSPP กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ขายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขนาด 8.00 เมกะวัตต์ ได้รับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2550 ขายกระแสไฟฟ้าแบบ Adder การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า เช่น แกลบจากโรงสีข้าว, เศษไม้จากโรงเลื่อย, ทะลายปาล์มเปล่าจากโรงหีบน้ำมันปาล์ม, ชานอ้อยจากโรงหีบ เพื่อนำมาเผาไหม้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP).