พณ.ปรับเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 0.2-0.8% หลังพบ ก.ย.67 ขยับเป็น 0.61% เหตุ ‘ดีเซลพุ่ง – น้ำท่วม’ กระทบราคาสินค้า
ผอ.สนค. “พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ยอมรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กันยายน 2567 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.61 เที่ยบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุจากจากราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้น หลังรัฐบาลปล่อยตามกลไกตลาดและจากปัญหาน้ำท่วม ดันราคาผักสดบางชนิดปรับตัวสูง เผย! สนค.ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จากเดิมร้อยละ 0.0 – 1.0 เป็นร้อยละ 0.2 – 0.8 เหตุมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยประจำเดือนกันยายน 2567 ว่า อยู่ในระดับ 108.68 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ที่ระดับ 108.02 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.61 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมถึงผักสดบางชนิดได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ราคาแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.35 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.61 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.25 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (ต้นหอม ผักกาดขาว ผักคะน้า พริกสด ผักชี มะเขือ กะหล่ำปลี) ผลไม้สด (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม ทุเรียน ฝรั่ง กล้วยหอม) ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมสด และไข่ไก่ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารตามสั่ง กับข้าวสำเร็จรูป) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) และ กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) ขณะที่ยังมี สินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ส้มเขียวหวาน ปลาทู น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม และไก่ย่างเป็นต้น
ส่วน หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.55 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) กลุ่มเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษ) และ กลุ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ลิปสติก แป้งผัดหน้า น้ำยาบ้วนปาก) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี เป็นต้น
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2567 ลดลงร้อยละ 0.10 (MoM) ตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.36 ปรับลดลงตามราคา แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน) และของใช้ส่วนบุคคล (ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า แชมพู) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ น้ำยาระงับกลิ่นกาย สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า และน้ำหอม เป็นต้น ขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.25 ตามการสูงขึ้นของผักสดบางชนิด อาทิ ต้นหอม ผักชี ผักกาดขาว มะนาว และหัวหอมแดง ผลไม้บางชนิด อาทิ แตงโม มะม่วง และชมพู่ รวมทั้งข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง อาทิ มะเขือ แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง เงาะ ลองกอง มังคุด ทุเรียน องุ่น ไก่ย่าง และน้ำมันพืช
ทั้งนี้ สนค. มองว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.60 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (QoQ) ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม – กันยายน) ของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.20 (AoA) โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 4 ปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ฃ
โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักสดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น และ (3) สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ ราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง (2) การแข็งค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูง และ (3) คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง – ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 เป็นระหว่างร้อยละ 0.2 – 0.8 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 49.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 43.1 จากระดับ 41.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 57.2 จากระดับ 55.1 สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจาก (1) ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออกและปัจจัยฤดูกาลช่วงปลายปี (2) การดำเนินนโยบายภาครัฐที่เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรง พร้อมทั้งมีการดำเนินการเรียบร้อยแล้วในกลุ่มเปราะบาง และ (3) ราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายรายการปรับตัวดีขึ้น อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับภาวะอุทกภัยภายในประเทศที่สร้างความเสียหายต่อครัวเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ยังเป็นปัจจัยกดดันที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ต่อไป.