BOI เผย ผู้ผลิตแบตเตอรี่จีน ขานรับเตรียมลงทุนในไทย 30,000 ล้านบาท

บีโอไอ เผยผลการจัดโรดโชว์การลงทุนที่จีน ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำตอบรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ คาดในปีนี้ อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการตั้งฐานผลิตในไทยเงินลงทุนเฟสแรกกว่า 30,000 ล้านบาท

วันที่ 17 เม.ย. 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ณ มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง พบว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน” ที่บีโอไอเพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนหลายด้านที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต จะเห็นได้จากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งรถยนต์ BEV, PHEV และ HEV อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่ง

รถกระบะ ไปจนถึงรถบัส รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับการลงทุน บุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย และบางรายจะผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นปลายคือ โมดูลและแพ็ค

ภายในปีนี้ คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับรายอื่นๆ บางส่วนกำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทย และบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมวางแผนลงทุนผลิตเฉพาะโมดูลและแพ็ค แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตเซลล์ จึงให้ความสนใจและจะพิจารณาแผนการลงทุนใหม่ ซึ่งบีโอไอจะติดตามอย่างใกล้ชิด

“ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนจากบริษัทผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศ แต่การผลักดันให้ไทยเป็นฐานยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะเซลล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของแบตเตอรี่ และเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพและระยะทางวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า จากการตอบรับอย่างดีของผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ครั้งนี้ เชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มซัพพลายเชนและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีฐานที่มั่นคงในระยะยาว” นายนฤตม์กล่าว

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์จากจีนมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 60 โดย CATL มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 37 บริษัทเหล่านี้มิได้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเท่านั้น แต่ล้วนมีเครือข่ายระดับโลก และผลิตป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกด้วย เช่น CATL ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla, Ford, BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Kia และเป็นพันธมิตรกับ Toyota ขณะที่ Gotion มี Volkswagen เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต ส่วน EVE Energy ผลิตป้อนให้กับ BMW และ SVOLT มีลูกค้าเป็นแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ เช่น BMW และ Stellantis สำหรับ Sunwoda ก็ผลิตแบตเตอรี่ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Renault, Nissan, Volkswagen, Volvo

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password