‘มนพร’ ชี้! รัฐจัดงบปี’67 เน้นพัฒนาขนส่งทุกเส้นทาง – พร้อมรับมือ สว.อภิปรายรัฐบาล
รมช.คมนาคม ตอบชัด! สมาชิกวุฒิสภา ย้ำ! การจัดงบประมาณปี 67 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขนส่งทุกเส้นทาง พร้อมเตรียมข้อมูล 3 โครงการยักษ์ในกำกับรับมือ ส.ว.อภิปรายฯรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ระบุ! โครงการแลนด์บริดจ์ เน้นผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักเพื่อเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของประเทศ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการประชุมสมาชิกวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยตนได้ตอบคำถามของ นายสุรเดช จิรัฐติเจริญ กรณีทางเชื่อมรถไฟหนองคาย – เวียงจันทร์ ว่า กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางราง โดยเป้าหมายให้ผู้ประกอบการหันมาขนสินค้าทางรางให้มากขึ้น แทนการขนส่งด้วยรถบรรทุก โดยทำการเชื่อมโครงข่ายทางรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการเชื่อมต่อ 3 สนามบิน และในอนาคตโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงโคราช-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 สำหรับการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572
สำหรับ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้รัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ นั้น ในส่วนที่ตนกำกับดูแล โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในพื้นที่ EEC นั้น ตนยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภูมิภาค เพื่อกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ โดยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วย
1. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผ่าน 5 จังหวัด ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังพื้นที่ใช้เวลาเพียง 60 นาทีเท่านั้น ซึ่งสามารถประหยัดเวลาได้มาก
2. สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกองทัพเรือสามารถเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้
3. ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 18 ล้าน TEU ต่อปี ที่สำคัญเป็นการก้าวสู่ การเป็นท่าเรือสีเขียว (Green Port ) ที่สร้างสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศด้วย และสุดท้ายเรื่อง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุก๊าชธรรมชาติ และสินค้าเหลว
“กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ให้ประชาชนเดินทางด้วยความปลอดภัย สะดวกสบาย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว.