‘มนพร’ โต้กระทู้สดฝ่ายค้านปม ‘แลนด์บริดจ์’ ชี้ผลศึกษาคุ้มค่าต่อแผนการลงทุน

“รมช.คมนาคม – มนพร” ตอบกระทู้สดในสภาฯ แทน “นายกรัฐมนตรี – รมว.คมนาคม” ปม “แลนด์บริดจ์”  ย้ำ! หากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รัฐบาลพร้อมจะทบทวน  เผย! ผลการศึกษาชี้ว่าสามารถประหยัดเวลาในการเดินเรือ ลดค่าใช้จ่าย  สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ 

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เกี่ยวกับการทำโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งมีผู้ตั้งถาม จำนวน 2 กระทู้ ของ ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นายสุรเชษฐ์ ประวิณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

โดย นายสุรเชษฐ์ ได้สอบถามถึงรายละเอียดของผลการศึกษาบนข้อเท็จจริง เช่น สายการเดินเรือ การลดค่าใช้จ่ายในสายการเดินเรือ ว่า จะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนระหว่าง แลนด์บริดจ์เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา รวมถึงประมาณการเรือขนส่งที่จะใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ ตามผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนในฐานะฝ่ายค้าน ไม่ได้ค้านไปเรื่อย แต่จากการรับฟังข้อมูลไม่พบรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง แต่พบเป็นข้อมูลเพื่ออวย และฝันใหญ่เท่านั้น

“ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าการขนส่งจะเสียเวลา 7-10 วัน ที่จะขนย้ายสินค้าขึ้นลง และสายการเดินเรือต้องเพิ่มจำนวนเรือ 7-10 ลำ ถือว่า มีค่าใช้จ่าย และเสียเวลาที่มากกว่า ช่องแคบมะละกา และช่องทางเดินเรืออื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่จะบอกในความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ บอกว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า และเสนอให้ลดขนาดของโครงการและลงทุน รวมถึงผลกระทบชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้รัฐบาลต้องการเพิ่มขนาด ข้อมูลทางธุรกิจไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขาย จะขายของหรือขายหน้าต้องรอดู” นายสุรเชษฐ์ กล่าวและว่า…

เมื่อผลศึกษายังไม่ชัดเจน ทำไมถึงไปเร่ขายต่างประเทศแล้ว ขณะที่การศึกษาอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจะยกที่ให้นายทุนกี่ไร่ และนานเท่าไร

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการชักศึกเข้าบ้านในแง่นโยบายทางการเมืองด้วย จึงควรคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่มากกว่าการขายฝันโครงการใหญ่ที่พบว่า หลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนเดือดร้อน แต่ผู้รับเหมารวม จึงขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ มีความคุ้มค่าและโปร่งใส มากกว่าอยากทำ

ด้าน นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงแทน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า จากการโรดโชว์ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุริยะ) ในต่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีนักลงทุนให้ความสนใจและเข้าร่วมหารือ ซึ่งนักลงทุนสนับสนุนเพราะต้องการช่องทางขนส่งทางเรือที่สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวก

ล่าสุด นายเศรษฐา ที่เดินทางไปยังกรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ได้พูดคุยกับนักลงทุนในกลุ่มสหภาพยุโรป ได้รับความสนใจและเสียงต่อรับ จากนักธุรกิจในเชิงบวก โดยได้ขยายความคิด และโครงการให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องการโอกาสทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนกลายเส้นทางคมนาคมขนส่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลกต่อไป

นางมนพร กล่าวอีกว่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ทุกโครงการต้องฟังความเห็น และมีการออกกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้เชิญคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างให้ความเห็น รวมถึงศึกษาทุกมิติ อาทิ ความมั่นคง อุตสาหกรรม ต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแลนด์บริดจ์ มีผลกกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความท้าทายที่ต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่รวมถึงคำนึงถึงการเวนคืนที่ดินในราคาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่

นอกจากนั้น กรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ พบว่า ประชาชนส่วนหนึ่งคัดค้านเพราะไม่อยากสูญเสียที่ดินทำกินดั้งเดิม สิทธิในที่อยู่อาศัย และการประมงพื้นบ้าน ซึ่งรัฐบาลไม่ละเลยเสียงคัดค้านดังกล่าวและเตรียมออกกฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยนำความเห็นของประชาชนมาพิจารณา ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ

นางมนพร ชี้แจงต่ออีกว่า ตนจะผลักดันความฝันแลนด์บริดจ์ให้เป็นจริงและลงมือทำ ทั้งนี้โครงการช่องทางแลนด์บริดจ์เพื่อลดการเสียเวลาและระยะทางขนส่ง จากที่ช่องแคบมะละกามีความแออัด และมีปัญหาปล้นเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไป ออสเตรเลีย ทางเรือมีเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศจีนตอนใต้หลายพื้นที่ไม่ติดทะเล หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้มีเรือตู้สินค้ามาที่แลนด์บริดจ์เพิ่มมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แม้ไม่ใช่ทุกเส้นทางการเดินเรือ

แต่จากการศึกษาพบว่า เส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาวหากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่นั้น ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุนต้องเข้ามาศึกษาในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วมีประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ต้องกลับมาทบทวน

“ยอมรับว่า ทุกโครงการมีผลกระทบ จึงใช้กลไกของสภาฯ ผ่านกรรมาธิการฯ ที่ประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาศึกษา ประชุมกว่า 10 ครั้ง ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อศึกษาแล้วจะนำมาให้สภาฯ พิจารณา และส.ส.สามารถให้ความเห็นได้ เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หากพบว่า ของบสูงเกินไป สามารถอภิปรายปรับลดได้ ทั้งนี้ก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดใน 10 ส่วน ไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ 84% สถานะประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อนและการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา และจะนำข้อห่วงใยของฝ่ายค้านไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย”  รมช.คมนาคม ย้ำในที่สุด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password