ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(26) ที่ระดับ 36.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.13-36.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกจำกัดโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.)

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเทขายหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Alphabet -9.5% หลังรายงานผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เข้าใกล้ระดับ 5.00% อีกครั้ง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ซึ่งแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าวได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.43% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.43% ทั้งนี้

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.04% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้แย่ไปกว่าคาดมาก ส่วนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ผลประกอบการออกมาดีกว่าคาดก็ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ Dassault System +8%, Hermes +2.8%

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) และความกังวลแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการขาดดุลงบประมาณ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.95% อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่ได้ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงมีความผันผวนอยู่ และจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นแนวโน้มขาลงได้ง่าย จนกว่าตลาดจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง และเฟดอาจไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ ทว่า เราคงคำแนะนำเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอย Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่มาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.5 จุด (กรอบ 106.2-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงสามารถทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากแรงซื้อทองคำในช่วงตลาดการเงินผันผวน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลต่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสไปพอสมควร ทั้งนี้ เรามองว่า ราคาทองคำมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงและปรับตัวลดลงได้ หากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ถ้ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3

โดยในส่วนของการประชุม ECB นั้น เราประเมินว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วที่ระดับ 4.00% (Deposit Facility Rate) หลังภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น อนึ่ง เราจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB และแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน

สำหรับรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 นั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวกว่า +4.1%q/q, เทียบรายปี (GDPNow โดย Atlanta Fed ประเมิน +5.4%) อย่างไรก็ดี แม้ว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวได้แข็งแกร่ง ทว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในระยะข้างหน้า ตามภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการเริ่มเก็บหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans) ในเดือนตุลาคม และปริมาณเงินออมส่วนเกิน (Excess Saving) ที่ได้ลดลง จนอาจหมดไปแล้วสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุม ECB ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งต้องจับตาว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาเทขายทั้งหุ้นและบอนด์ไทยเพิ่มเติมหรือไม่ หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงในคืนที่ผ่านมา อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 5% อีกครั้ง นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน โฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

ทั้งนี้ เรามองว่า หากราคาทองคำยังคงทรงตัวแถว 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ปรับตัวขึ้นบ้าง ก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ ทว่า เรายังมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer)

เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาด ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ตั้งแต่ช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB รวมถึงถ้อยแถลงของประธาน ECB (ในช่วงเวลาประมาณ 19.15 น. และ 19.45 น. ตามเวลาประเทศไทย) และรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 (ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยหาก ECB กังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนมากขึ้น พร้อมส่งสัญญาณจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่ยาก ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ได้

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.35 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงาน GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ และมองกรอบในช่วง 36.05-36.55 บาท/ดอลลาร์ หลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงาน GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ .

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password