ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ชี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.78-34.90 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำยังคงแกว่งตัวในกรอบเดิม

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด (ราว 85% ของบริษัทที่ได้รายงานผลประกอบการนั้น มีผลกำไรดีกว่าคาด) รวมถึงแรงซื้อหุ้นในจังหวะย่อตัว หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวแรงในสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.90%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.09% หนุนโดยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวขึ้น ดีกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรป

ในฝั่งตลาดบอนด์ แรงขายบอนด์ระยะยาวฝั่งสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงบ้าง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.08% (กรอบ 4.05%-4.12%) โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟดจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.1 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง ในช่วงที่บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานยอดการค้าเดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) จะยังคงหดตัวกว่า -12.6%y/y กดดันโดยการชะลอตัวของบรรดาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด) นอกจากนี้ การฟื้นตัวในประเทศที่ยังคงซบเซาจะกดดันให้ยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงหดตัว -5.3%y/y ทั้งนี้ ในระยะถัดไป เราคาดว่า ยอดการค้าของจีน โดยเฉพาะในฝั่งนำเข้าอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังทางการจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ อาทิ อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ก็อาจทำให้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

นอกจากนี้ เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ยังคงเป็นปัจจัยที่ควรติดตามใกล้ชิดและอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ และส่วนในฝั่งไทย สถานการณ์การเมืองไทยจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรอลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่และการโหวตเลือกนายกฯ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ทว่า เราประเมินว่า จากสถานการณ์การเมืองล่าสุด นักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้เทขายหุ้นไทยมากขึ้นและเริ่มเห็นแรงขายหุ้นไทยที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า ทำให้เรามองว่า หากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ นักลงทุนต่างชาติก็อาจมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดทุนไทยมากขึ้นและเริ่มทยอยกลับมาเป็นฝั่งซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิ ซึ่งจะช่วยทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมาก โดยเรายังคงประเมินโซนแนวต้านสำคัญไว้ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแรกแถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์ มาได้ในช่วงวันก่อนหน้า ทั้งนี้ หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (ซึ่งเราคาดว่าต้องเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลก่อน) เราประเมินโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญแรก และโซน 34.25 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวรับถัดไปในระยะสั้น

นอกจากนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์อาจเริ่มเข้าสู่ช่วงแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างก็มีสถานะ Short เงินดอลลาร์อยู่ (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่า) และรอจังหวะในการเพิ่มสถานะ Short เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมา

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password