เอสซีจี สู้วิกฤตต้นทุนพลังงานพุ่ง พลิกเกมส์รุกสู่ 3 ธุรกิจเทรนด์โลก

เอสซีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 ยอดขายและกำไรลดลงจากต้นทุนพลังงานทั่วโลกพุ่งสูง เศรษฐกิจโลกชะลอจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม จีนใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ วัฏจักรปิโตรเคมีถึงจุดต่ำสุดภาพรวมสถานะการเงินยังแกร่ง เน้นลงทุนรอบคอบในธุรกิจศักยภาพสูงและยั่งยืน พลิกเกมส์เชิงรุกเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ มั่นใจเป็นธุรกิจศักยภาพสูงตอบเมกะเทรนด์โลก

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 3 ปี 2565 ได้รับผลกระทบอย่างสูงจากวิกฤตต้นทุนพลังงานรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี สืบเนื่องจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนพลังงานเอสซีจีเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งวัฏจักรปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เอสซีจีพร้อมรับมือกับวิกฤตซ้อนวิกฤต โดยยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเงินแข็งแกร่ง ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ทบทวนการลงทุนและชะลอโครงการใหม่ที่ไม่เร่งด่วน มุ่งโครงการผลตอบแทนเร็ว สอดคล้องกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ อาทิ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนาม ซึ่งคืบหน้าตามแผน 97% นอกจากนั้น ในไตรมาส 3 ได้ออกหุ้นกู้ทั้งกลุ่มรวม 35,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างทันท่วงทีด้วยการเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ได้แก่

1) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เอสซีจีมุ่งลดต้นทุน เร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ทดแทนพลังงานฟอสซิล โดยไตรมาสที่ 3 ธุรกิจซีเมนต์ในไทยมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 40% จากเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิต ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มเป็น 34% เทียบกับ 18% ของปีก่อน และพลังงานแสงอาทิตย์ 195 เมกะวัตต์ (ณ เดือนกันยายน ปี 2565) อีกทั้งต่อยอดเป็นธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรสำหรับตลาดที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าได้ผ่านแพลตฟอร์ม Smart grid มีฐานลูกค้าชั้นนำครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน

2) ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน ควบรวมธุรกิจโลจิสติกส์กับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรรายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยบริการที่หลากหลายทั้งบริการคลังสินค้า ระบบห้องเย็น บริการขนส่งสินค้าทั้งทางบก เรือ อากาศ บริการท่าเทียบเรือ และบริการนำเข้า-ส่งออกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

3) ธุรกิจ Smart Living ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวก คุ้มค่า ปลอดภัย รักษ์โลกได้แก่ นวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อคุณภาพอากาศและประหยัดพลังงาน อาทิ SCG Active AIR Quality SCG Bi-ion และ SCG HVAC Air Scrubber โซลูชันจัดการคุณภาพอากาศ กำจัดเชื้อโรค ลดการใช้พลังงานในอาคาร Trinity IOT Ecosystem เทคโนโลยีควบคุมการเปิด-ปิดนวัตกรรมในบ้านอัจฉริยะ Wellness Home Hub เทคโนโลยีวัดค่าสุขภาพของผู้อาศัยในบ้าน หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลได้ทันที

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 447,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% YoY สาเหตุหลักจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ จากราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด กำไรสำหรับงวด 21,225 ล้านบาท ลดลง 45% YoY สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์และต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง

เอสซีจีปรับกลยุทธ์นวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA โดยได้ยกระดับเกณฑ์การพิจารณาให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เน้นปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างผลกำไรให้สูงขึ้น ภายใต้เกณฑ์ใหม่ เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการ HVA ในช่วง 9 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 152,888 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของยอดขายรวม

ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) และ Service Solution คิดเป็น 17% และ 6 % ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีมูลค่า 929,931 ล้านบาท 46 % เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) ผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2565 รายได้จากการขาย 193,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% YoY เนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น กำไรสำหรับงวด 6,953 ล้านบาท ลดลง 72% YoY เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ผลประกอบการ 9 เดือนมีรายได้จากการขาย 155,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% YoY กำไรสำหรับงวด 4,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57 % YoY หากไม่รวมรายการด้อยค่าสินทรัพย์และรายการสำคัญ (Key Items) กำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับงวดเท่ากับ 4,827 ล้านบาท ลดลง 25% YoY SCGP ผลประกอบการ 9 เดือน มีรายได้จากการขาย 112,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26 % YoY

เนื่องจากเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์ (UPPC 3) ขยายธุรกิจควบรวมกิจการ  (M&P) ในบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Duy Tan) เวียดนาม ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ (Intan Group) อินโดนีเซีย ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Deltalab, S.L.) สเปน และธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Peute) รวมถึงราคาขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุน กำไรสำหรับงวด 5,351 ล้านบาท ลดลง 13% YoY สาเหตุจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้น

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ท้าทายสูง แต่เชื่อมั่นว่า เอสซีจีจะผ่านสถานการณ์นี้และกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา จากการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจอย่างทันท่วงที ลดต้นทุน ชะลอโครงการลงทุนที่ไม่เร่งด่วนปรับแผนการผลิตให้เหมาะกับความต้องการตลาด ขณะเดียวกันลงทุนเพิ่มในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง (New S-Curve) ส่วนธุรกิจที่ SCGPเข้าไปลงทุน ยังเติบโตต่อเนื่องด้วยดี

สถานะทางการเงินและกระแสเงินสดของเอสซีจียังแข็งแกร่ง ภาระการลงทุนน้อยลง เนื่องจากโครงการ LSP เสร็จสิ้นไปแล้ว 97% ด้วยการสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่พนักงาน คู่ค้า คู่ธุรกิจ และลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความร่วมมือฝ่าวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างดี”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password