เอสซีจี มุ่งสร้างสังคม Net Zero ด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus หนุนปลูกป่าต้นน้ำ ส่งเสริมการ ‘ชิงเก็บ ลดเผา’

เอสซีจี สร้างสังคม Net Zero เร่งเครื่องพลังงานสะอาด-ปูนคาร์บอนต่ำจับมือชุมชนขยายผลฟื้นน้ำ สร้างป่า ส่งเสริมการ “ชิงเก็บ ลดเผา”  ลดฝุ่น PM 2.5 ใช้เทคโนโลยีจัดการน้ำ สร้างอาชีพ ลดเหลื่อมล้ำ เติบโตยั่งยืนร่วมกัน

นายโอบบุญ แย้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG 4 Plus เร่งสร้างสังคม Net Zero ที่น่าอยู่ ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ทุกธุรกิจมุ่งใช้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก และร่วมกับทุกภาคส่วนลดเหลื่อมล้ำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้แก่ โครงการรักษ์ภูผามหานที เพื่อให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดปี ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งทำไปแล้วกว่า 120,000 ฝาย และโครงการพลังชุมชน อบรมให้ความรู้ เปลี่ยนวิธีคิด สร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มจากการเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นให้โดดเด่นและตอบความต้องการตลาด ปัจจุบันมีผู้ร่วมเข้าทั้ง 2 โครงการ กว่า 200,000 คน จาก 500 ชุมชน ใน 37 จังหวัด เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง”

นายวรการ พงษ์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวว่า “ตั้งแต่วันแรกที่เอสซีจี ลำปางก่อตั้งขึ้น เรายึดหลัก “สร้างงาน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นพลเมืองดีของลำปาง” ดำเนินงานโดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Manufacturing) โดยเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงทดแทน ร้อยละ 40 อาทิ ชีวมวล (Biomass) ขยะมูลฝอยจากชุมชน (RDF) วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด กิ่งไม้ใบไม้ จากโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ได้อย่างดี และเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ร้อยละ 26 ด้วยการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ โซลาร์รูฟท็อป นำลมร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Generator) อีกทั้งใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกหินปูน-รถตัก-รถขุดไฟฟ้าในโรงงาน ขณะเดียวกันยังผลิตปูนคาร์บอนต่ำเป็นรายแรกของไทย ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน CO 2 ต่อการผลิต 1 ตัน ปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย หมู่เกาะมัลดีฟส์ และปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำ รุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรกอีกร้อยละ 5 นอกจากนี้ยังส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ผ่านการสร้างฝายชะลอน้ำ การปลูกป่าชุมชน และต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ”

นายสงกรานต์ เป็นพวก ผู้ใหญ่บ้านสาแพะเหนือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง กล่าวว่า “ช่วงปี 2558-2559 เกิดภัยแล้งรุนแรง ต้นข้าวยืนต้นแห้งตายเกือบทั้งหมู่บ้าน ชุมชนจึงเข้าร่วมโครงการรักษ์ภูผามหานที กับเอสซีจี ลำปาง เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำควบคู่กับการดูแลป่าต้นน้ำ เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายใต้ทราย วังเก็บน้ำ ประตูเปิด-ปิดน้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำชุมชน “อ่างห้วยแก้ว” ได้ถึง 80,000 ลูกบาศก์เมตรทั้งยังลดการสูญเสียการจ่ายน้ำด้วยการทำบ่อพวงคอนกรีตตามสันเขา ชุมชนจึงสามารถกักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกได้ตลอดปี เน้นพืชมูลค่าสูง ขายได้ราคาดี เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วแระญี่ปุ่น ข้าวโพดหวาน และผลไม้ยืนต้น เช่น เงาะ ทุเรียน สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท”

นายสุมัย หมายหมั้น นายกสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน จ.ลำปาง กล่าวว่า “เพื่อสนับสนุนชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ภาครัฐ เอกชน ประชาชนจึงร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายป่าชุมชนเมื่อปี 2552 และขยายผลสู่การก่อตั้งสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน จ.ลำปาง ในปี 2564 โดยสมาคมฯ และเอสซีจี ลำปางได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง “กองทุนคาร์บอนเครดิตชุมชน” ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมกว่า 250 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 500,000 ไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 250,000 ตัน CO 2 ต่อปี ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง น้ำท่วม หมอกควัน ไฟป่า ฝุ่น PM 2.5” นอกจากการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการรักษ์ภูผามหานที เอสซีจียังมุ่งลดเหลื่อมล้ำสังคม 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ การศึกษา อาชีพ และสุขภาวะ โดยในด้านอาชีพ เอสซีจีริเริ่มโครงการพลังชุมชน ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมวิสาหกิจชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างโอกาสให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน

นางภัทชา ตนะทิพย์ นวัตกรตัวแม่ ชุมชนวังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า “หลังจากเข้าอบรมโครงการพลังชุมชนซึ่งเอสซีจีจัดขึ้น จึงนำวิธีคิด “ง่าย ไว ใหม่ ใหญ่ ยั่งยืน” มาใช้สร้างอาชีพ ด้วยการแปรรูปกล้วยหอมทองอย่างหลากหลาย ให้ถูกใจลูกค้า เช่น กล้วยหอมทองอบกรอบ รสคาราเมล ข้าวเม่าคาราเมลคอนเฟลกส์ เครื่องดื่มจากกล้วย กล้วยหอมทองซีเรียล โจ๊กกล้วยหอมทองธัญพืช อีกทั้งได้ชวนเยาวชนในท้องถิ่นมาร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม สร้างเพิ่มมูลค่าให้สินค้า โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตจาก LocoPack ของ SCGP เป้าหมายถัดไปคือการพัฒนาชุมชนวังชิ้นเป็นชุมชนเศรษฐกิจ “กล้าคิด กล้าทำ ทำต่อเนื่อง” ตั้งศูนย์นวัตกรรมกล้วยหอมทองครบวงจร เปิดสอนอาชีพ สร้างงานให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม และเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาการตลาด เชื่อมกับแผนการท่องเที่ยวให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจ จ.แพร่”

นายสินชัย พุกจินดา เจ้าของโฮมสเตย์ หมอนไม้ไออุ่น จ.แพร่ กล่าวว่า “แม่ภัทชาเป็นบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและลงมือทำ หลังจากได้เข้าอบรมในโครงการพลังชุมชน จึงเกิดความคิดว่า ชุมชนเรามีของดีที่เป็นเอกลักษณ์และพัฒนาเป็นอาชีพได้ นั่นคือทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศดีน่าท่องเที่ยว จึงใช้ทักษะการเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้สักมาออกแบบโฮมสเตย์ “หมอนไม้ไออุ่น” จุดเด่นคือนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเครื่องเรือนไม้สักที่ทำจากมือด้วยหัวใจ ให้บริการอาหารเครื่องดื่ม ชมทิวทัศน์ที่สวยงามท่ามกลางภูเขา ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็น “จุดเช็คอิน” ที่นักเดินทางต้องแวะเวียนมา นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำสินค้าของฝากของที่ระลึกมาจำหน่าย อนาคตจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อยกระดับให้ อ.วังชิ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยสร้างงาน อาชีพ และยังทำให้คนท้องถิ่นภูมิใจในบ้านเกิดด้วย”

จากตัวอย่างความร่วมมือของทุกภาคส่วนและบุคคลหลากหลายวัย ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และนำไปสู่เป้าหมายสังคม Net Zero ได้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password