“บิ๊กตู่”นั่งหัวโต๊ะ ถกบีโอไอ.ไฟเขียวงบฯ กว่า2แสนล. หนุนโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซี.

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมบอร์ดบีโอไอ. พร้อมไฟเขียว เงินส่งเสริมลงทุนกว่า 2 แสนล้าน เชื่อมโครงการพื้นที่ อีอีซี “รถยนต์ไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูง-ผลิตเส้นใย” พร้อมหนุนนักลงทุนต่างด้าวที่ชำระแล้วขั้นต่ำ50ล้านได้สิทธิประโยชน์อื้อ

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดบีโอไอ.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน วานนนี้(13 มิ.ย.) ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 209,478 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด 36,100 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด 162,318 ล้านบาท กิจการผลิตเส้นใยและผลิตผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษของกลุ่มบริษัท คิงบอร์ด โฮลดิ้งส์ 8,230 ล้านบาท และการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นของบริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด 2,830 ล้านบาท

“โครงการที่ได้รับอนุมัติครั้งนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สนับสนุนการลงทุนสาธารณูปโภคที่สำคัญในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เพิ่มศักยภาพในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และโครงการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆที่มีการจ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว” เลขาฯบีโอไอ.กล่าว

นอกจากนี้ ประชุมยังได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ระดับโมดูล และกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง โดยเพิ่มระยะเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ในกรณีที่ผลิตจำหน่ายในประเทศ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ทั้งนี้ กรณีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและได้รับอนุมัติไปแล้ว สามารถแก้ไขโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ใหม่นี้ได้เช่นกัน

โดยปัจจุบัน มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าจำนวน 16 โครงการจาก 10 บริษัทรวมเงินลงทุน 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง รวม 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,746.1 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนกิจการนิคม หรือ เขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ Smart Facilities, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน ดังนี้ Smart Good Corporate Governance, Smart Living และ Smart Workforce พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไขห้ามตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ทั้งที่สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้ยังไม่สิ้นสุดและสิ้นสุดแล้ว และโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริม ก็ขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหรือขอรับการส่งเสริมเพื่อยกระดับเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้เช่นกัน

และเพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการในประเทศไทย บีโอไอ.ได้กำหนดให้นิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยถือครองที่ดินเป็นที่ตั้งสำนักงานของกิจการได้ไม่เกิน 5 ไร่ ที่ดินเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้บริหาร ผู้ชำนาญการต่างชาติได้ไม่เกิน 10 ไร่และที่ดินเป็นที่พักอาศัยของคนงานได้ไม่เกิน 20 ไร่ หากหมดสภาพการเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมจะต้องจำหน่ายหรือโอนที่ดินภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ให้สำนักงานออกประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมตามความเหมาะสม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password