ชู SME D BANK ดัน ‘2 โครงการสินเชื่อ’ ช่วยเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ 2 หมื่นล. เสริมสภาพคล่อง
“โฆษกกระทรวงการคลัง” แจง! มอบหมาย SME D BANK เดินเครื่อง 2 โครงการ “สินเชื่อปลุกพลัง SME – สินเชื่อ Beyond ติดปีก SME” ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินกู้ หลังได้รับผลกระทบมาตั้งวิกฤติโควิด-19 เตรียมงบโครงการละ 10,000 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีไทย
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเติบโตของระบบเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัว เป็นผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SME) จำนวนมากยังคงอยู่ในสภาวะเปราะบาง โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ จึงทำให้ผู้ประกอบการ SME ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ
กระทรวงการคลังเล็งเห็นความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME ในทุกภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการ SME รายย่อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการฟื้นฟู ปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาขีดความสามารถของการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
จึงได้เสนอ มาตรการด้านการเงินจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME และ 2) โครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME ดำเนินการโดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D BANK ซึ่ง คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อปลุกพลัง SME วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับผู้ประกอบการ SME รายย่อยและมีความเปราะบางทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในทุกภาคธุรกิจที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี และในปีที่ 4 – 10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ ธพว. กำหนด ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568
2) โครงการสินเชื่อ Beyond ติดปีก SME วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในทุกภาคธุรกิจที่มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปีที่ 1 – 3 ร้อยละ 3 ต่อปี และในปีที่ 4 – 10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ ธพว. กำหนด ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568
“กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ในทุกภาคธุรกิจ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ SME รายย่อยและมีความเปราะบาง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอในการเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง ขยายธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาวต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเพิ่มเติม.