ตัวแทนสิทธิ์แบรนด์ดังที่ฮ่องกงขอโทษกรมศุลฯ หลังชี้มั่ว! ‘นาฬิกาหรู’ ปลอมว่าเป็นจริง!
“พชร อนันตศิลป์” นำทีมผู้บริหารกรมศุลการแถลงปมขายทอดตลาด “13 นาฬิกาหรูปลอม” ด้าน ตัวแทนสิทธิ์แบรนด์ดังในฮ่องกง ยอมรับทีมงานไทย “มั่ว” เหตุแจงของปลอมเป็นของจริง พร้อมทำหนังสือขอโทษ แสดงความเสียใจและจะระมัดระวังมากขึ้น ด้านกรมศุลกากรหวังใช้เคสท์นี้สร้างมาตรฐานใหม่ รองรับการประมูลของกลางในอนาคต
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา ณ บริเวณหน้าคลังของกลาง กรมศุลการกร, นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นายพันธ์ทอง รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และ คณะผู้บริหารกรมศุลกากร ร่วมแถลงข่าวกรณีการขายทอดตลาดนาฬิกาหรู ว่า ตามที่กรมศุลกากรได้ดำเนินการขายทอดตลาดของกลางประเภทนาฬิกาหรู จำนวน 13 เรือน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ต่อมาพบว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ของปลอม) ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้สืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่านาฬิกาหรูดังกล่าวซึ่งทั้งหมดเป็นนาฬิกาเรือนเดิม และกรมศุลกากรได้เก็บรักษาไว้ตั้งแต่วันที่มีการจับกุม อ้างอิงจากหมายเลขกำกับของ (Serial No.) โดยไม่ได้มีการสับเปลี่ยนนาฬิกาหรูดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากมีระบบกล้องวงจรปิดคอยตรวจสอบตลาดเวลา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขั้นตอนการตรวจสอบของกลางระหว่างตัวแทนสิทธิ และผู้ประสานงานของผู้จับกุมมีขั้นตอนที่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและสร้างความสับสนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรมศุลกากรจึงขอเรียงเหตุการณ์ตามลำดับเวลาก่อนหลัง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและภาคประชาชนรับทราบ ดังนี้
1) วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดนาฬิกาดังกล่าว และได้ประสานงานไปยังตัวแทนสิทธิในประเทศไทย เพื่อดำเนินการตรวจสอบของกลางในคดี คือ นาฬิกาหรู จำนวน 13 เรือน
2) วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ตัวแทนสิทธิได้เข้าตรวจสอบของกลาง ณ กรมศุลกากร และต่อมา วันที่ 8 กันยายน 2565 ตัวแทนสิทธิได้แจ้งผลการตรวจสอบเป็นหนังสือต่อกรมศุลกากรว่า นาฬิกาหรูดังกล่าว เป็นของแท้
3) หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจำหน่ายของกลางของกรมศุลกากรได้ตรวจสอบเอกสารของแฟ้มคดีว่ามีความครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยยึดหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากตัวแทนสิทธิเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นเอกสารหลักฐาน และในวันที่ 18 เมษายน 2566 กรมศุลกากรได้อนุมัติให้มีการระงับคดี และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการขออนุมัติจำหน่ายของกลาง โดยได้ทำการขายทอดตลาดนาฬิกาหรูดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งผู้ประมูลได้มาติดต่อชำระเงินค่าของและรับมอบนาฬิกาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566
4) วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ผู้ประมูลได้มีความประสงค์ขอคืนของกลางที่ประมูลได้ และแจ้งว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของปลอม กรมศุลกากรจึงประสานตัวแทนสิทธิเพื่อตรวจสอบนาฬิกาที่จะคืนร่วมกัน ที่เป็นนาฬิกาชุดเดียวกันกับที่ตรวจยึด และ ตัวแทนสิทธิได้ยืนยันเป็นหนังสือ ว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ของปลอม) กรมศุลกากรจึงยกเลิกการขายทอดตลาดนาฬิกาหรูแฟ้มคดีดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งคืนเงินที่ชำระทั้งจำนวน หรือเงินมัดจำให้แก่ผู้ประมูลทั้งหมด
กรณีดังกล่าว กรมศุลกากรได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหารือมาตรการบังคับตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กรณีตัวแทนสิทธิกระทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และ/หรือ บุคคลภายนอกผู้สุจริต เพื่อให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนสิทธิได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการตรวจสอบสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวในอนาคต
ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานทรัพย์สินทางปัญญาได้ประสานตัวแทนของตัวแทนสิทธิในประเทศไทย ได้ความว่า ตัวแทนสิทธิมีความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะใช้ความระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดในการประสานงานระหว่างตัวแทนสิทธิและกรมศุลกากรอีกในครั้งต่อไป
ด้าน ตัวแทนสิทธิที่เป็นบริษัทสำนักงานใหญ่ ประจำเมืองฮ่องกง มีหนังสือขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน ได้ความว่า ตัวแทนของบริษัทฯ ที่ประเทศไทยดำเนินการตรวจสอบความผิดพลาดพร้อมแจ้งทบทวนแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบว่า หากมีการตรวจสอบสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าที่มีความคล้ายคลึงกับสินค้าจริงมาก ตัวแทนสิทธิในประเทศไทยจะต้องประสานข้อมูลมาที่บริษัทสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกงเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเน้นย้ำถึงความสำคัญในการประสานงานกับกรมศุลกากรที่จะต้องจัดทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกในอนาคต
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กรมศุลกากร ได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบในการปฏิบัติงานของกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการรับ การเก็บรักษา และการจำหน่ายของกลางประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าสูง ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 21/2566 เพื่อให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยในขั้นตอนการส่ง-รับของกลาง ให้เพิ่มเติม โดยให้มีการระบุเครื่องหมายกำกับของนั้นๆ (Serial No.) อย่างครบถ้วน
ในส่วนของขั้นตอนการตรวจสอบของกลางจะมีการกำหนดขั้นตอนไว้ชัดเจน จากเดิม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งของกลางหรือผู้จับกุมจะต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนฯมาทำการตรวจสอบและรับรองว่าเป็นของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก่อนและเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้นำส่งและรับของกลางต่อไป แก้ไขเพิ่มเติม โดย กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งของกลางตรวจสอบว่าของดังกล่าวเป็นของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ โดยแจ้งให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนทำการตรวจสอบและรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่จับกุม และหากเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนไม่สามารถรับรองได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้นำส่งของกลางจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่มีส่วนได้เสียมาตรวจสอบและรับรองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลจากเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 45 วัน ในขั้นตอนการตรวจสอบของเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนให้ถือว่าของกลางดังกล่าวเป็นของละเมิด
สำหรับขั้นตอนในการขายทอดตลาด ให้เพิ่มเติม ในกรณีของกลางที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง เช่น นาฬิกา กระเป๋า ครื่องเพชร หรือทองรูปพรรณ หากจะทำการขายทอดตลาด จะต้องมีเอกสารแสดงผลการตรวจสอบจากเจ้าของสิทธิหรือตัวแทน ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่น่าเชื่อถือประกอบการพิจารณาก่อนจำหน่ายทุกครั้ง อีกทั้ง กรณีผู้ที่เข้าร่วมประมูลของกลางที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ก็ได้กำหนดให้ควรมีผู้ที่เชี่ยวชาญหรือผู้ที่น่าเชื่อถือในการตรวจรับมอบก่อน.