กรมศุลฯนำตรวจสอบตู้ของกลางซากสัตว์-หมูเถื่อน หวั่นก่อโรคระบาดสั่งทำลายทันที

กรมศุลกากร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ดีเอสไอ – กรมปศุสัตว์ – สตช. – สภาเกษตรกรแห่งชาติ – สมาคมเลี้ยงหมู” เปิดตู้ของกลางซากสัตว์และสุกรเถื่อน 161 ตู้ เผย! ทั้งหมดมาจากต่างประเทศ แถมไม่มีแหล่งที่มาชัดเจนและไร้เอกสารรับรองการเชือด หวั่นอาจก่อโรคระบาด กระทบผู้บริโภคและเกษตรกรในไทย สั่งทำลายหลังตรวจตู้สินค้าทันที!

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2566, นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร มอบหมายให้ นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีกรมศุลกากร และ นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมคณะ ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมปศุสัตว์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ  และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบตู้ของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเทียบเรือ D1 ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร ได้ตรวจยึดซากสุกรแช่แข็งตกค้าง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้ จากการตรวจสอบพบซากสัตว์ที่ยึดได้ทั้งหมด มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศและไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ประกอบกับไม่มีเอกสารรับรองการฆ่าสัตว์หรือสุขศาสตร์ของสัตวแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือพาหะของ โรคระบาดสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

ต่อมากรมศุลกากรได้มีหนังสือถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้มีหนังสือส่งมอบตู้สินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้างให้แก่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์  เพื่อทำลายซึ่งภายหลังจากการตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าวเสร็จสิ้น ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์จะนำไปทำลาย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการ  โดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่ถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องกับพันธกิจของกรมศุลกากรด้านการปกป้องสังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password