คมนาคมห่วงความปลอดภัยผู้โดยสารทางน้ำ สั่งเจ้าท่าฯออกมาตรการป้องกันเข้มงวด
“มนพร” สั่งกรมเจ้าท่าเร่งดูแลความปลอดภัยของเรือโดยสาร ยอมรับเป็นห่วงความปลอดภัยของประชาชน หลังพบอุบัติเหตุทางน้ำบ่อยครั้ง ลุยจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเรือทุกประเภททุกลำทั่วไทยกว่า 1.5 หมื่นลำ ลุยเข้มงวดเรือภัตตาคารอีก 108 ลำ จัดพื้นที่แยกถังแก๊ส LPG ปรุงอาหารบนเรือในจุดที่ปลอดภัยสูงสุด-เตรียมอุปกรณ์ดับเพลิง-จัดหลักสูตรอบรมผู้ควบคุมเรือ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้ กรมเจ้าท่า (จท.) กำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของเรือโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุด หลังพบสถิติการเกิดอุบัติเหตุของเรือโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมานั้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำของพี่น้องประชาชน
โดยกำชับให้ จท. เร่งดำเนินการตรวจสอบเรือทุกลำ ทั้งเรือโดยสาร เรือโดยสารสาธารณะ และเรือโดยสารทั่วไป ประกอบด้วย เรือโดยสารต่างๆ มีการให้บริการเดินเรือทั้งในลำแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา และให้บริการชายฝั่งทะเล เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล หรือเกาะต่างๆ มีจำนวนเรือโดยสารรวมทั้งสิ้น 15,685 ลำ ซึ่งจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซลและเบนซิน และสามารถจำแนกออกได้เป็น เรือโดยสารประจำทาง 266 ลำ เรือโดยสารและภัตตาคาร จำนวน 108 ลำ
ขณะที่ เรือโดยสารประจำทางที่ให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น เรือโดยสารในคลองแสนแสบ จำนวน 60 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B20 เรือโดยสารในลำแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็น เรือด่วนเจ้าพระยา จำนวน 40 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B 20 และเรือไฟฟ้า จำนวน 35 ลำ 2.3 เรือโดยสารภัตตาคาร จำนวน 52 ลำ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ จท. จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดในทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้างตัวเรือ, ตรวจสอบระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบไฟฟ้า, ตรวจสอบเครื่องยนต์ ระบบกลไกในการขับเคลื่อนเรือ, ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือ อาทิ พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ อุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้, ตรวจสอบระบบติดต่อสื่อสาร สัญญาณไฟเดินเรือ
นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักร รวมถึงเข้มงวดการตรวจตราก่อนเรือออกเดินทางจากท่าเรือต่างๆ ไม่ให้บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากำหนด ตรวจสอบมิให้เรือบรรทุกผู้โดยสารบรรทุกสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ถังแก๊ส LPG หรือวัตถุอันตรายอื่น ๆ เป็นต้น อีกทั้งเข้มงวดกวดขันผู้ควบคุมเรือให้มีความพร้อมในการเดินเรือ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ พร้อมทั้งจัดประชุมประชาสัมพันธ์รณรงค์มาตรการความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำร่วมกับชมรม สมาคมต่างๆ และผู้ประกอบการเรือ
นางมนพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของเรือโดยสารและภัตตาคาร ที่มีจำนวน 108 ลำ ได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยถังแก๊ส LPG ที่ใช้ในการปรุงอาหาร ให้จัดวางแยกจากพื้นที่ที่บรรทุกผู้โดยสารและอยู่ในพื้นที่ดาดฟ้าเปิด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ และเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร นอกจากนั้น บริเวณปรุงอาหารมีอุปกรณ์ดับเพลิง มีการติดตั้งวาล์วนิรภัย อีกทั้งยังต้องกำหนดจำนวนถังแก๊ส เพื่อปรุงอาหารให้เป็นไปตามขนาดเรือโดยสารและภัตตาคาร
ขณะที่ ผนังในห้องครัวส่วนที่ปรุงอาหารต้องเป็นวัตถุโลหะ รวมถึงต้องมีการกำหนดหลักสูตรอบรมและประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือโดยสารและภัตตาคาร เช่น การดับไฟ การอพยพผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นเหตุไม่ปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ การคมนาคมทางน้ำ แจ้งสายด่วนกรมเจ้าท่า หมายเลข 1199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.