กนอ.รับลูก ‘เอกนัฏ’ เล็งผุด ‘ศูนย์ I-EA-T Incubation’ เพิ่มโอกาส-ติดปีก SMEs

“เอกนัฏ” ปลุก “การนิคมฯ” ลุยปฏิรูปอุตฯไทย สร้างเศรษฐกิจสีเขียว เล็งผลักดันอุตฯป้องกันประเทศ พร้อมสนับสนุน SMEs “รักษาการผู้ว่าการ กนอ.“ รับลูกดันตั้งศูนย์บ่มเพาะที่ลาดกระบังใน 3 เดือน เพิ่มโอกาส-ลดต้นทุนให้ SMEs ลั่น 6 เดือนเดินหน้าระบบจัดการกากพิษครบวงจร

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 ได้มีโอกาสไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งก็ได้รับทราบถึงแผนงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคของ กนอ.หลายเรื่อง โดยได้เน้นย้ำถึงพันธกิจของกระทรวงฯ ที่ กนอ.เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อน โดยเฉพาะปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ไปถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ที่ผู้ประกอบการในไทยหลายรายมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ยังต้องยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ผ่านมา กนอ.ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องวางแนวทางประสานข้อมูลกับทางกระทรวงฯ และต่อยอดองค์ความรู้ของ กนอ.ไปสู่ผู้ประกอบการนอกนิคมฯ เพื่อให้เกิดโรงงานสีเขียวทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ กำลังจัดฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงฯ ให้เป็นหนึ่งเดียวตามแนวนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) จึงอยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กนอ. และกระทรวงฯ ทั้งในเรื่องการตัดการกากอุตสาหกรรม, ขออนุมัติ-อนุญาต และการรายงานผลประกอบการผ่านแพลทฟอร์มเดียวกัน (Single Form) เพื่อให้ฐานข้อมูลที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้ กนอ.เข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม SMEs ไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยอาจจะจัดพื้นที่ และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในนิคมฯ ให้แก่ธุรกิจ SMEs ทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้าง Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ

“ผมเห็นแล้วว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเรามีเป้าหมายเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าการทำงานของเราจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเรามองเห็นภาพเดียวกัน และจับมือและเดินไปด้วยกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม และแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการปฏิรูปอุตสาหกรรม” นายเอกนัฏ ระบุ

ทั้งนี้ โอกาสเดียวกัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. ได้กล่าวย้ำถึงบทบาทสำคัญของ กนอ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม พร้อมนำเสนอข้อมูลการลงทุน (Investment Outlook) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในภาพรวมและในนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมาว่า พื้นที่นิคมฯที่ กนอ.ดำเนินการเอง และพื้นที่ร่วมดำเนินงาน ยังมีความสามารถที่จะรองรับการลงทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติได้อีกมาก

ด้าน นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ได้นำเสนอวิสัยทัศน์”นิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” ที่มุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน ยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันแก่นักลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล พร้อมรายงานความคืบหน้าของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1, นิคมอุตสาหกรรม Smart Park, การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือนิคมฯ Circular, นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ จ.ระนองและ ชุมพร, นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และแนวคิดโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นายสุเมธ ยังได้นำเสนอแผนงานตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง” ของ รมว.อุตสาหกรรม ด้วยว่า กนอ.ได้วางแนวทางเพื่อสนับสนุนนโยบายไว้ 3 เรื่องสำคัญที่จะเร่งดำเนินการ คือ 1.การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SMEs (I-EA-T Incubation) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs โดยการใช้นิคมฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ SMEs เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการ และพร้อมเปิดนิคมฯที่นิคมฯลาดกระบัง ภายใน 3 เดือน และการผลักดันแก้ไขปัญหาผังเมืองในพท้นที่ระเบียงเศรษฐกิจหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะดำเนินการภายใน 3 เดือนเช่นกัน, 2.การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดขั้นตอนและเวลา เรื่องนี้จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายใน 6 เดือน และ 3.การสร้าง Eco System หรือระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ โดยใช้แพลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ให้ง่ายต่อการประกอบกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใน 1 ปี

“กนอ.ขอรับการสนับสนุนจากรมว.อุตสาหกรรม ในด้านต่างๆ เช่น การผลักดันกฎหมายผังเมือง EEC, การบูรณาการแก้ไขการจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร, Fast Track Lane (ช่องทางพิเศษเพื่ออำนายความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมที่ดิน และ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เพื่อให้โครงการตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม สำเร็จลุล่วง และที่ต้องการใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายสุเมธ ระบุ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password