ค่ายกรุงไทย ชี้! ส่งออก ม.ค. โตสูงสุดรอบ 19 ด. – คาดส่งออกทั้งปีขยายตัวเป็นบวก
Krungthai COMPASS ชี้! การส่างออกของไทยช่วง ม.ค.2567 ขยายตัวถึง 10% จากปีก่อน นับเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับแต่ มิ.ย. 2565 กลุ่มขยายตัวนำโดย “สินค้าเกษตร – อุตสาหกรรมเกษตร – สินค้าอุตสาหกรรม” ระบุ! ตลาดหลักมีการขยายตัวถ้วนหน้า สอดรับการนำเข้าที่โตจากปีก่อน 2.6% เผย! คาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2567 โอกาสพลิกกลับมาขยายตัว ตามแรงหนุนของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และภาวะขาขึ้นของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2567 ว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 10.0%YoY สูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 4.7% และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ Krungthai COMPASS ที่ 11.1% โดยการส่งออกสินค้าทั้งหมวดอุตสาหกรรม รวมทั้งหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ต่างขยายตัว เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 8.6%YoY
ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่ขยายตัว :
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 10.3%YoY เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.0%YoY เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+106.3%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+32.2%) อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งไม่รวมทองคำ (+21.5%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+7.6%) และผลิตภัณฑ์ยาง (+3.7%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-10.5%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-9.5%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-4.7%) ตลอดจน เคมีภัณฑ์ (-1.6%) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 9.2%YoY จากหดตัว -3.2%YoY เมื่อเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเกษตรพลิกมาเติบโต +14.0%YoY ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.8%YoY โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+45.9%) ผักกระป๋องและผักแปรรูป (+33.1%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (+30.1%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+23.3%) ยางพารา (+5.5%) และ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป(+5.0%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-58.8 %) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-27.0%) และ น้ำตาลทราย (-16.2 %) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญ :
• สหรัฐฯ : เติบโต 13.7%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และอุปกรณ์ และ ยางยานพาหนะ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
• จีน : ขยายตัวที่ 2.1%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
• ญี่ปุ่น : กลับมาเติบโตได้ 1.0%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญซึ่งหดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
• EU27 : กลับมาขยายตัวที่ 4.5%YoY โดยสินค้าสำคัญที่เติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น
• ASEAN-5 : ขยายตัว 18.1%YoY โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ข้าว และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ถอดรหัสจากข้อมูลข้างต้น โดยระบุว่า…
• การส่งออกไทยในเดือน ม.ค. 67 เติบโต 10.0% สูงสุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง บ่งชี้ถึงการกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Krungthai COMPASS ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกในปี 2567 มีโอกาสพลิกเติบโตเป็นบวกได้ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นและสามารถขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่การส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง การส่งออกล่าสุดในเดือน ม.ค. 2567 ของไต้หวัน และเกาหลีใต้ เติบโตเป็นเลขสองหลักและทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2565 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการส่งออกคอมพิวเตอร์ของไทยที่เติบโตถึง 32.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนบทบาทของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่หนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งภาวะขาขึ้นของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลกยังมีสัญญาณดีขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักในเดือน ม.ค. 2567 ทยอยปรับตัวสู่แดนบวก โดยเฉพาะ PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯที่กลับมาขยายตัวได้และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 รวมถึง การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก
แม้กระนั้นก็ตาม การส่งออกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะข้างหน้าได้ เช่น การรีเซ็ตเศรษฐกิจจากภาวะการเงินตึงตัวต่อที่อาจกระทบกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า การรีเซ็ตเทรนด์โลกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับความรุนแรง และความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ หากทรัมป์กลับมาเป็น ปธน.อีกสมัย รวมทั้งสงครามการค้ารอบใหม่กับจีน อาจเป็นการรีเซ็ตเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจโลกใหม่ ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาต่อไป.