สนค. ชี้! เงินเฟ้อ ธ.ค.66 ติดลบมากสุด 34 เดือน แต่ทั้งปี 66 ยังบวก 1.23%

สนค. เผย เงินเฟ้อ ธ.ค. 66 ติดลบเยอะสุด 34 เดือน แต่ทั้งปี 66 ยังบวก 1.23% จับตานโยบายพลังงาน เอลนีโญ เดือนหน้าลบต่อ ชี้เป้าหมายทั้งปีนี้อยู๋ที่ 0.7%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อของไทยเดือน ธ.ค. 66 อยู่ที่ 106.96 ลดลง 0.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.23% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เดือน ธ.ค. 66 อยู่ที่ 104.58 เพิ่มขึ้น 0.58% จากปีก่อน ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.27%

“การที่เงินเฟ้อยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีปัจจัยมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ลดลง นอกจากนี้ ผักสดราคาลดลงค่อนข้างมาก สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ โดยตลอดทั้งเดือนนี้ มีราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ปรับเพิ่มขึ้น 274 รายการ คงที่ 49 รายการ และปรับลดลง 107 รายการ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกยังคงสูงขึ้น”

สำหรับราคาสินค้าและบริการ หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.00% ตามการลดลงของค่าไฟฟ้า สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด การขนส่ง และการสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาหารสัตว์เลี้ยง บุหรี่ สุรา และเบียร์ ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.63% ตามการลดลงของเนื้อสัตว์ ผักสด เครื่องประกอบอาหาร น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ อาหารสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ผลไม้สด   

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 66 อยู่ที่ 1.23% เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 1.0-1.7% โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ผักและผลไม้ และพืชผักบางชนิดเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้ายังอยู่ระดับสูงกว่าปี 65 อย่างไรก็ตาม มีสินค้าราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร น้ำมันพืช  

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปปี 67 จะอยู่ในระดับต่ำมีกรอบเงินเฟ้อปี 67 ติดลบ 0.3% ถึง 1.7% ค่ากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% โดยเดือน ม.ค. 67 มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เป็นการหดตัวจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม ยังไม่อยู่ในจุดที่เกิดภาวะเงินฝืด แต่มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ผลกระทบจากเอลนีโญมีแนวโน้มลดลง และมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับมาตรการลดหย่อนภาษี อีซี่ อี-รีซีท ส่วนปัจจัยที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความขัดแย้งในภูมิภาค อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password