คค.สั่งเข้มความปลอดภัยทางน้ำ 63 ท่าเรือ – ดูแล นนท.คืนวันลอยกระทง
“รมช.คมนาคม” มนพร เจริญศรี ห่วงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยทางน้ำวันลอยกระทง ด้าน รษก.อธิบดีกรมเจ้าท่า เผย! พร้อมนำนโยบาย ก.คมนาคมสร้างความปลอดภัยครบวงจร ประสานหลายหน่วยงานรัฐ-เอกชน ดูแลตลอดทั้ง 63 ท่าเทียบเรือ ลั่น ดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ลอยกระทงปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรอยยิ้ม ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว” ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุข ของประชาชน” และ “ราชรถยิ้ม”
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กรมเจ้าท่าเข้มงวดในการกำกับดูแลความปลอดภัยของประชาชน นักท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ในช่วงประเพณีวันลอยกระทง ที่ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก เดินทางร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยบริเวณแม่น้ำ ลำคลองทั่วประเทศ โดยได้เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้จัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจสอบสภาพโป๊ะเทียบเรือและเรือโดยสารก่อนเทศกาลลอยกระทง โดยมอบนโยบายให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า ณ อาคาร 39 เป็นหน่วยหลักในการบัญชาการ กรมเจ้าท่า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 50 ศูนย์ เจ้าหน้าที่พร้อมเรือตรวจการณ์ ออกปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยและควบคุมการจราจรทางน้ำ ในพื้นที่รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 ลำ และโทรศัพท์สายด่วน กรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง
จากนั้น รมช.คมนาคม พร้อมด้วย นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 39 ตรวจความพร้อมความปลอดภัยทางน้ำก่อนเทศกาลลอยกระทง ตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในคืนวันลอยกระทง ประจำปี 2566 ในวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ณ กรมเจ้าท่าและท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ กรมเจ้าท่า – ไอคอนสยาม – ท่าเรือสาทร – เอเชียทีค
ด้าน นายกริชเพชร กล่าวเสริมว่า ได้นำนโยบายของ รมช.คมนาคม ไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเทียบเรือโดยสารจำนวน 63 ท่าเทียบเรือ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิต่าง ๆ ดังนี้ แม่น้ำเจ้าพระยา 53 ท่าเรือ คลองแสนแสบ 7 ท่าเรือ คลองโอ่งอ่าง 1 ท่าเรือ และคลองผดุงกรุงเกษม 1 ท่าเรือ พร้อมจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยทางน้ำบริเวณ ท่าเทียบเรือที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่นของกรุงเทพมหานคร เช่น ท่าเรือเอเชียทีค, ท่าเรือไอคอนสยาม, ท่าเรือริเวอร์ซิตี้, ท่าเรือคลองโอ่งอ่าง, ท่าเรือหัวลำโพง, ท่าเรือทำเนียบรัฐบาล และท่าเรือพระราม 8 โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ จำนวนทั้งสิ้น 859 คน เรือตรวจการณ์ จำนวน 71 ลำ และรถยนต์ จำนวน 128 คัน
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ออกมาท่องเที่ยวและใช้การสัญจรทางน้ำในคืนวันลอยกระทง ประกอบด้วย กองทัพเรือ จัดกำลังพล จำนวน 52 นาย และเรือจำนวน 8 ลำ กองบังคับการตำรวจน้ำ จัดกำลังพล จำนวน 21 นาย และเรือ จำนวน 6 ลำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร จัดกำลังพล จำนวน 50 นาย และเรือ จำนวน 4 ลำ พร้อมด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบังคับการตำรวจน้ำ สถานีตำรวจท้องที่ ตำรวจท่องเที่ยว คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล เครือข่ายอาสาวารี มูลนิธิ สมาคม จิตอาสาและเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการเข้มงวดกวดขันให้ผู้ประกอบกิจการ ผู้ครอบครอง โป๊ะเทียบเรือ เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าโดยเคร่งครัด
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ยังได้จัดกิจกรรมปล่อยแถวเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการณ์ในคืนวันลอยกระทง โดยมีหน่วยงานร่วมกิจกรรม อาทิ ตำรวจน้ำ , กองทัพเรือ , วชิรพยาบาล ผู้ประกอบการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ประกอบการเรือไฟฟ้า My Smart Ferry , มูลนิธิป่อเต๊กตึ้ง และตำรวจท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทงปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรอยยิ้ม ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว” ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุข ของประชาชน” และ “ราชรถยิ้ม” อันจะส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวทางน้ำในค่ำคืนลอยกระทงอย่างมีความสุข.