กกร.หวั่น สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กระทบส่งออกไทยติดลบ 2.0

กกร.ประมาณการส่งออกไว้ที่ -2.0 ถึง -1.0 จากสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลก และส่งออกไทย ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ สินค้าเกษตร และยานยนต์ ยังมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว กล่าวว่าสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก สงครามส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก หากสงครามรุนแรงและขยายวงกว้างไปถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงแตะระดับ 140-150 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรลได้ อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในวงจำกัด คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรล และเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะกระทบ 0.1-0.3% เท่านั้น

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามจะผ่านช่องทางการค้า การท่องเที่ยว และราคาพลังงานยังไม่มากนัก ไทยมีการค้ากับอิสราเอล ปาเลสไตน์ และประเทศรอบข้างเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯต่อปี หรือต่ำกว่า 0.3% ของการค้าระหว่างประเทศ และมีนักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี หรือต่ำกว่า 1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากขยายวงกว้าง อาจกระทบกับการค้ากับตะวันออกกลางโดยรวม ซึ่งคิดเป็น 4% ของการส่งออกของไทยและกระทบกับต้นทุนนำเข้าพลังงาน ซึ่งเป็นภาระการคลัง และค่าครองชีพของผู้บริโภค

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยฟื้นชะลอลง กำลังซื้อของครัวเรือนไทยเริ่มแผ่วลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่ที่ 28-29 ล้านคน น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ 29-30 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายมาตรการยกเว้นการขอวีซ่านักท่องเที่ยวเพิ่มเติมให้กับอินเดียและไต้หวันในช่วง High season รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนของภาครัฐ จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า ประเด็นด้านสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลกให้เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ สินค้าเกษตร และยานยนต์ ยังมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี ที่ประชุม กกร.จึงได้ประมาณการส่งออกไว้เป็น -2.0 ถึง -1.0

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ แต่เป็นปัจจัยกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ กกร. ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ที่มีมาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุน ผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ในช่วงที่ผ่านมา กกร. หวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อนโยบายรัฐบาล ดังนี้

1.กกร. เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อภายในประเทศ และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ชัดเจนในการเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ระบบเดิมที่มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และประชาชนมีความคุ้นชิน เน้นไปที่การต่อยอดและไม่ลงทุนซ้ำซ้อน รวมทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าที่มีการผลิตในประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่องให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพของประเทศ พร้อมทั้งสอดประสานกับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย

2. ในส่วนของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กกร. เห็นว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงควรพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะ (Pay by Skill) เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพแรงงาน (Productivity)

โดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว 88 สาขาวิชาชีพ เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร ช่างประกอบยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งได้เริ่มทดสอบไปแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนศูนย์ทดสอบ เครื่องมือที่ไม่เพียงพอ รวมถึงงบประมาณในการสนับสนุน จึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้เต็มศักยภาพ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password