“จุลพันธ์” สรุป3แนวทาง “เงินดิจิทัล” ให้ นายกฯเคาะสัปดาห์หน้า ส่อเลื่อนออกไปถึง เม.ย.67

รมช.คลัง ประชุมคณะอนุกก.โครงการเงินดิจิทัล1หมื่นบาท เผยได้ปรับเงื่อนไขการแจกเงิน ชง3แนวทางให้ นายกฯ เคาะ 1.ให้ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 2.ตัดสิทธิ์คนมีเงินเดือน 2.5 หมื่น และ 3. ตัดสิทธิ์กลุ่มเงินเดือนเกิน 5หมื่น พร้อมจ่อเลื่อนดำเนินการจาก 1 ก.พ.67 เป็น เม.ย.67

วันที่ 25 ต.ค.2566 ผลการประชุมครั้งที่ 2 ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี​​ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีความเห็นเสนอให้ปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 2 ส่วนหลัก คือ เกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์ และ เงื่อนไขการใช้จ่าย โดยข้อเสนอในการประชุมครั้งนี้ จะส่งต่อให้ที่คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า

3 ทางเลือก เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ดังนี้
-ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย จำนวนราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากถือผู้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทางเลือกนี้จะใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
-ตัดสิทธิ์กลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ ผู้มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะทำให้เหลือผู้ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน และใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
-ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยอมรับว่าในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯวันนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้จึงต้องนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตัดสินใจในสัปดาห์หน้า

โดยประเด็นที่มีความเห็นต่างแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตั้งใจที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องการให้คนจำนวนมากเข้าร่วมโครงการได้ อีกส่วนหนึ่งมีข้อเสนอให้ตัดสิทธิ์คนรวยออก ซึ่งทำให้คณะทำงานต้องนิยามความหมาย และวัดระดับของคำว่า “คนรวย” ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตามหากนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้รัฐบาลไม่ปรับเงื่อนไข จะทำคนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปได้รับสิทธิ์ทุกคน ซึ่งประเมินจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศมากกว่า 56 ล้านคน และต้องใช้เงินในการทำโครงการนี้สูงถึง 560,000 ล้านบาท นี่จุดเป็นจุดใหญ่สำคัญที่ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกหลายสถาบัน ออกมาเรียกร้องให้รัฐฯทบทวนนโยบาย เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลังของประเทศไทยในระยะยาว

นอกจากข้อเสนอการปรับเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว ที่ประชุมคณะอนุการฯ ยังเสนอปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายด้วย จากเดิมกำหนดให้ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามทะเบียนบ้าน เสนอใหม่เป็นสามารถใช้ภายในอำเภอได้ จะทำให้พื้นที่ใหญ่ขึ้น และเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอ โดยสามารถใช้จ่ายในประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

สำหรับประเด็นการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ คือ ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน ขณะที่ระบบการขึ้นเงินสามารถทำได้กับร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้นิติบุคคล และบุคคธรรมดา

รมช.คลัง ยอมรับว่า การเริ่มใช้นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาจต้องล่าช้าออกไปในระดับหนึ่ง จากเดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ 1 ก.พ.2567 อย่างไรก็ตามมองว่า ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นทั้งเรื่องระบบความปลอดภัยและ กระบวนการทดสอบระบบ โดยจะให้ธนาคารกรุงไทย ที่มีประสบการณ์เป็นผู้ดำเนินการ ทำให้เป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ไม่ใช่แอปเป๋าตัง และยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบประมาณมาพัฒนาระบบสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาทแน่นอน

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ มีหลายแนวทาง รมช.คลัง ยืนยันว่า จะใช้งบประมาณเป็นหลัก โดยจะใช้ปีละราว 1 แสนล้านบาท และ ตั้งงบฯ ผูกพันข้ามปี เช่น หากใช้งบประมาณทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ก็จะตั้งงบฯ ผูกพันไป 4 ปี ซึ่งต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการ Cash Out หรือขึ้นเงินจากระบบอีกที ซึ่งหากคณะกรรมการชุดใหญ่เลือกการใช้งบประมาณ ซึ่งต้องใช้งบฯ ปี 2567 จะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไป เพราะกว่างบประมาณจะบังคับใช้คือราวเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567 จะไม่ทันช่วงสงกรานต์อย่างที่ตั้งใจก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ในข้อเสนอของที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังมี Option การหาแหล่งเงินอื่นๆอีก ทั้งเงินกู้ กลไกมาตรการกึ่งการคลัง อย่างไรก็ตามการใช้กลไกตามมาตรา 28 ที่จะใช้เงินธนาคารออมสิน มีข้อติดขัดทางกฎหมาย ดังนั้นจะไม่ใช้แนวทางใช้เงินของธนาคารออมสิน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password