คลังหวังดึง ‘ออมสิน’ เป็นศูนย์กลางแก้หนี้สินภาคครัวเรือน

รมช.คลัง “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” หวังใช้เคสท์ “แก้หนี้” ของแบงก์ออมสินเป็นแนวทางแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน พร้อมดันเป็นศูนย์กลางรวมหนี้ทุกก้อนของแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ เหมือนยุคแก้หนี้ “ต้มยำกุ้ง” ชี้! ทุกฝ่าย “วิน-วิน-วิน”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่พบว่ามีสูงถึง 90.7% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ว่า ในส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขหนี้สินในส่วนนี้ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) โดยได้ดำเนินแก้หนี้สินของเกษตรกรรายย่อยราว 2.7 ล้านคน ด้วยการพักชำระหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ระหว่าง 1 ต.ค.2566 – 30 ก.ย.2567 ในส่วนของหนี้สินประชาชนทั่วไป ตนได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินไปดำเนินการแก้ไขในส่วนของลูกหนี้ธนาคารฯ เป็นการนำร่อง โดยในส่วนของหนี้ดี (หนี้ปกติ) อาจพิจารณาลดภาระดอกเบี้ยและเงินต้นลง เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังคงดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ธนาคารฯอาจพิจารณานำหนี้สินทั้งหมดมารวมก้อนและดำเนินการแก้ไขในคราวเดียว

“ธนาคารออมสินได้ดำเนินการนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกค้าตัวเอง แล้วจะนำข้อสรุปข้างต้นมารายงานให้ผมได้รับทราบ หากแนวทางนี้ประสบผลสำเร็จจนเป็นที่น่าพอใจก็อาจใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรายอื่นๆ ต่อไป โดยธนาคารออมสินอาจเป็นตัวกลางในการรวมก้อนหนี้ (G-AMC) ของแบงก์รัฐอื่นๆ รวมถึงแบงก์พาณิชย์ ที่ต้องการจะขายหนี้เสียของตัวเองให้กับธนาคารออมสิน แลกกับตั๋วเงินที่จะใช้เป็นตัวค้ำประกันว่าหนี้สินดังกล่าวจะไม่สูญหายไปแต่อย่างใด โดยจะไม่มีเรื่องของกำไรขาดทุน (Gain/ Lost) มาเกี่ยวข้อง ซึ่งแนวทางดังกล่าวรัฐบาลเคยดำเนินการมาแล้วเมื่อคราวเกิดวิกฤติต้นยำกุ้งปี 2540” รมช.คลัง ระบุและว่า

แนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตัวธนาคารเองก็ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ ตัวลูกหนี้ทั้งในกลุ่มหนี้ดีและหนี้เสีย ก็มีโอกาสที่จะลดภาระรายจ่ายและได้รับโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่ภาพรวมของหนี้สินภาคครัวเรือนก็จะลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องรอการดำเนินงานของธนาคารออมสินก่อน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password