TIPMSE รวมพลังเครือข่าย ประกาศปฏิบัติการ EPR

TIPMSE จับมือ 4 องค์กรเครือข่ายประกาศเริ่มปฏิบัติการ EPR ภาคสมัครใจ เก็บกลับบรรจุภัณฑ์สู่วงจรรีไซเคิล

เมื่อ 6 ตุลาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE จัดเวทีสัมมนา “EPR in action: ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ธุรกิจปังอย่างยั่งยืน” พร้อมแถลงความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ PackBack By TIPMSE, PPP Plastics, PRO Thailand Network และ Aluminum Closed Loop Packaging System ที่มีบทบาทในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทั้งแก้ว กระดาษ พลาสติก กล่องนม และกระป๋องอลูมิเนียม เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยกลไก Extended Producer Responsibility หรือ EPR

ซึ่งเป็นกลไกการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค โดยมีนางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน EPR ร่วมเป็นประธานในพิธี ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นางชญานันท์ ภักดิจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การที่ภาคเอกชนได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อเริ่มดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วนำมารีไซเคิลด้วยหลักการ EPR นี้ สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขณะนี้ กระทรวงฯ ได้ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนพัฒนากฎหมาย EPR ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2570 เพื่อนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “ภาคเอกชนถือเป็นหน่วยงานสำคัญต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR เพราะผู้ผลิต ต้นทางของวงจรบรรจุภัณฑ์ที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้และรับผิดชอบในการนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยมีภาคส่วนอื่นๆ ทำหน้าที่สนับสนุน โดยทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. มุ่งมั่นที่จะดำเนินการผ่าน TIPMSE ในโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมที่มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เกิดความยั่งยืนได้”

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน TIPMSE กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 โครงการ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยังยืน” ได้ขยายเครือข่ายขับเคลื่อน EPR เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ โดยได้เปิดตัวความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และพื้นที่นำร่อง จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง รวม 50 องค์กร ซึ่งในวันนี้เราสามารถขยายความร่วมมือสู่ 100 องค์กร และได้เริ่มปฏิบัติการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ EPR ภาคสมัครใจในปีนี้”

นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่และรักษาการผู้อำนวยการ TIPMSE กล่าวว่า “EPR in action ในโครงการ PackBack เริ่มจากพื้นที่นำร่อง 3 เทศบาลในจังหวัดชลบุรีเพื่อสร้าง sandbox กระบวนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว 5 ชนิดได้แก่ ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม กระดาษ กล่องนม และพลาสติกชนิดขวด PET, ขวด HDPE และซองบรรจุภัณฑ์แบบหลายชั้น เพื่อเรียนรู้ข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคในการดำเนิน EPR ในระดับปฏิบัติได้ รวมทั้งทำให้เราเห็นความสำคัญของการร่วมมือระหว่างเครือข่ายที่จะเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อขจัดอุปสรรคของการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลตามหลักการ EPR”

นายวิรัช เกลียวปฎินนท์ ประธานกลุ่มพลาสติก ส.อ.ท. และ PPP Plastics กล่าวว่า “PPP Plastic เป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการจัดการพลาสติกด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้ริเริ่มและดำเนินโครงการต่างๆ ที่เน้นด้านการสร้างระบบและ infrastructure model เพื่อนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่การรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ตามนโยบายและ Roadmap ของประเทศไทย โดยเล็งเห็นความสำคัญของนโยบาย EPR และการดำเนินการ EPR ภาคสมัครใจ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วต่างๆ วันนี้ เราจึงยินดีร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน EPR เพื่อส่งเสริมปฏิบัตการ EPR ภาคสมัครใจ ในงาน EPR in action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary”

นางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้แทน PRO Thailand กล่าวว่า “PRO Thailand Network เป็นองค์กรที่เกิดจากองค์กรภาคเอกชน 7 บริษัท โดยมีภารกิจในการทดลองและพัฒนากลไกการดำเนินงานขององค์กรผู้แทนความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ PRO ซึ่งจะกลายเป็นองค์กรที่สำคัญต่อกระบวนการ EPR ในอนาคต และ PRO Thailand Network ขอเป็นองค์กรหนึ่งที่ประกาศเจตจำนงกับ PackBack ในการขับเคลื่อน EPR in action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนต่อไป”

นางกิติยา แสนทวีสุข ผู้แทนโครงการ Aluminum Closed Loop Packaging System กล่าวว่า “โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคม โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมให้กลับมาเป็นกระป๋องอลูมิเนียม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทั้งในแง่มุมด้านเศรษฐกิจและคุณค่าของวัสดุ ปัจจุบันเรามุ่งดำเนินงานในพื้นที่เกาะ แหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ และมีข้อจำกัดในการจัดการขยะ ดังนั้น Aluminum Closed Loop Packaging System จึงขอเป็นองค์กรหนึ่งที่ประกาศเจตจำนงกับ PackBack ในการขับเคลื่อน EPR in action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary ในวันนี้ และจะร่วมผลักดันใน EPR ภาคสมัครใจเป็น EPR ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงและเป็นประโยชน์กับทั้งภาคธุรกิจ ภาคสังคม และช่วยดูแลให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีสัมมนาเรื่อง Design for Recycle โดยมีผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มาให้ความรู้ผู้ประกอบการในเรื่องมาตรการด้านบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย พร้อมกันนี้ผู้เข้าสัมมนายังได้เรียนรู้การออกแบบเพื่อการรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกยืด Design for Recycling for Flexible Packaging จากบริษัท ฮูทามากิ (ประเทศไทย) จำกัด และปิดท้ายด้วยการจัดการพลาสติกที่หลายคนอาจมองว่ามีข้อจำกัดในการรีไซเคิล ในหัวข้อเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกระดับสูง โดย นายสุเมธ เจริญชัยเดช Head of Central Research and Development บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)

“เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมกับกติกาโลกโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำหนดว่าภายในปี 2567 ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม “โครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)” เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าจะยังไม่บังคับใช้กฎหมายนี้กับประเทศที่ 3 ที่เป็นคู่ค้าส่งออกมายังยุโรป แต่ในอนาคตเชื่อว่ากฎหมายนี้จะใช้กับประเทศคู่ค้าแน่นอน ขณะที่ไทยเองก็กำลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ… ที่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 ดังนั้นวันนี้ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ แต่ต่อไป EPR ก็จะต้องเข้าสู่ภาคบังคับและทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อม” นายโฆสิต กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วม EPR ภาคสมัครใจสามารถเริ่มได้ง่ายๆ จากการประเมินองค์กรตนเอง และเลือกดำเนินการเริ่มต้นด้วยกิจกรรมที่เหมาะกับองค์กรของตนใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.เริ่มต้นกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก Eco-design กับ Eco-Design Clinic 2. เริ่มต้นเข้าใจกระบวนการ EPR 7 steps ไปกับ TIPMSE และโมเดลนำร่องในพื้นที่ชลบุรี และ 3. ร่วมกับ PRO Thailand Network และองค์กรต่างๆ เริ่มเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกับระบบ EPR ภาคสมัครใจพร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password