มีผลทันทีวันนี้! มติเอกฉันท์ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% แตะระดับ 2% ต่อปี
ที่ประชุม กนง.เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ดัน แตะ 2.00% ส่งซิกไม่หยุดขึ้นรับเงินเฟ้อยังกดดัน เศรษฐกิจฟื้นไม่เต็มที่ พร้อมคงจีดีพีปีนี้ที่ 3.6% ส่งออกดีขึ้นเหลือ -0.1%
วันที่ 31 พ.ค.2566 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.วันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกฟื้นตัวตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง มีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี และการส่งผ่านต้นทุนอาจปรับสูงขึ้น จากแรงกดดันด้านอุปทาน
“กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติมาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในภาวะผ่อนคลายและเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะขยายตัวไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ยังมีความไม่แน่นอนในทุกๆด้าน ดังนั้นการปรับดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมก็จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีศักยภาพ และยั่งยืน”
นายปิติ กล่าวต่อว่า กนง.เห็นชอบให้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ 3.6% และในปี 2567 ที่ 3.8% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านคนและปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น35.5 ล้านคน ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงานและเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป โดยคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ -0.1% ในปี 2566 และ 3.6% ในปี 2567
“อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล ยังเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยังจัดตั้งไม่เสร็จ และยังไม่ได้มีการหยิบยกมาเป็นประเด็นที่จะใช้พิจารณาผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ซึ่งในการประชุมมีการหยิบยกนโยบายในภาพรวมที่ทุกพรรคได้หาเสียงไว้มาประเมินผลกระทบในแง่บวก แง่ลบต่อเศรษฐกิจในเบื้องต้น คาดว่าจะมีการหารือในรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว”
นายปิติ กล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% และ 2.4% ในปี 2566 และ 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง โดยกนง. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว รวมทั้งการบริโภคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน.