ADB ประเมิน ศก.เอเชียโตต่ำกว่าปีก่อน พร้อมแนะ 3 แนวทางช่วยให้ฟื้นตัว

รมว.คลัง ร่วมวงประชุม สภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ระบุ เศรษฐกิจเอเชียโตต่ำกว่าปีก่อน พร้อมเผยแนวทางให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว และ พัฒนากลุ่ม EEC

วันที่ 5 พ.ค.2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการที่ไทยร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ครั้งที่ 56 ได้หารือกับที่ประชุมถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจเอเชียในปี 2566 จะชะลอตัวช้าลงจากปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.8% ปี 2567 จะเป็น 3% จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนในเอเชียคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4.4-4.5%

สำหรับไทยอาจจะสวนทางกับกระแสโลกเพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอยู่ประมาณ 3.6% ส่วนประเด็นที่อาเซียนและ ADB เห็นพ้องต้องกันคือ หลังโควิด-19 ทุกประเทศจะเผชิญกับปัญหาการใช้จ่ายเพื่อรักษาเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีภาระมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหาหนทางร่วมกันที่จะเข้ามาช่วยประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนั้นต้องเดินหน้าแก้เรื่องของความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเป็นปัจจัยผลกระทบเพิ่มขึ้นคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาพลังงาน เศรษฐกิจที่ร้อนแรงและเงินเฟ้อที่สูงของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนนโยบายอัตราดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นความท้าทายของทั่วโลก รวมถึงเอเชียด้วย

นายอาคมกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงเสถียรภาพของสถาบันการเงินที่มีผลจากธนาคารจากสหรัฐอเมริกาที่ปิดตัวลงไปหลายธนาคาร ซึ่งมีผลกระทบต่อในประเทศที่พัฒนาในเอเชีย ส่วนไทยไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ได้มีธุรกรรมกับธนาคารที่ถูกปิดในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเคยประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินมาก่อนในปี 2540 ยืนยันว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการคุมเข้มและมีเงินสำรอง ระดับหนี้เสียยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จึงขอให้มั่นใจได้ว่าเสถียรภาพทางการเงินของไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการล้มละลายของการปิดสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรป มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับไทยแน่นอน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายประเทศประสบปัญหางบประมาณ ไทยเองได้ใช้จ่ายงบประมาณไปจำนวนมาก ดังนั้น หลายประเทศต้องการความช่วยเหลือจากธนาคาร ADB ซึ่งไทยเองมีบางโครงการต้องกู้เพื่อผ่องถ่ายภาระงบประมาณแผ่นดินให้กับภาคเอกชนโดยเฉพาะเรื่องของการทำ PPP ในโครงการต่างๆ และรัฐบาลยังได้ออกพันธบัตรหรือมีการกู้เงินภายในประเทศ ในอนาคตจะมีการกู้ต่างประเทศเพื่อดูในเรื่องอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งจะใช้วิธีออกพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย ก็มีการพูดถึงเรื่องของการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนในการพัฒนาโครงการสีเขียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ประเทศต่างๆ จะขาดเงินทุนจึงเป็นประเด็นที่จะมีทางเลือกในการหาแหล่งเงินอย่างไร

นายอาคมยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปมาก ดังนั้น เงินพัฒนาจะลดน้อยลงไป แต่จะสามารถเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่จะเข้ามาช่วยสิ่งที่ต้องการคือให้มีพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนา การแก้ปัญหาวิกฤตและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทั้งนี้หากประเมินในเวลานี้ในเศรษฐกิจปีนี้การท่องเที่ยวดีเกินคาดการส่งออกได้รับผลกระทบบ้าง สำหรับการบริโภคภายในประเทศหลังผ่านพ้นโควิด-19 คนเข้าสู่ระบบการทำงานมากขึ้น จึงเชื่อว่าในปี 2566 ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือความต่อเนื่องของการพัฒนา เช่นเดียวกับที่ ADB ได้ชี้ว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจของเอเชียฟื้นตัวใน 3 ประเด็นคือ 1.ทำให้เศรษฐกิจเราเติบโตบนพื้นฐานที่แท้จริง ซึ่งเราต้องใช้ประโยชน์การท่องเที่ยว วางพื้นฐานเรื่องการพัฒนากลุ่ม EEC ให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน

2.การเชื่อมต่อ เนื่องจากช่วงโควิด-19 ขาดการเชื่อมต่อ ประชาชนถูกห้ามออกนอกประเทศ การทำธุรกรรม ขนส่งชะงัก ดังนั้น จะต้อง re-connect การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3.การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศที่ยากจน ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงเศรษฐกิจ BCG การสร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร ลดภาระของรัฐบาลด้านการเกษตร ด้วยการประกันภัยพืชผล ประกันรายได้ ซึ่งได้เริ่มทำในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password