มีลุ้น! พรุ่งนี้ (21 เม.ย.) อนุกรรมการค่าไฟ เตรียมพิจารณาปรับลดค่าเอฟทีงวดพ.ค.-ส.ค.นี้
คณะกรรมการกำกับพลังงาน หรือ กกพ.เตรียมประชุมพิจารณาปรับลดค่าเอฟที งวด พ.ค.-ส.ค.ตามที่ กฟผ.ขอขยายหนี้การชำระค่าไฟฟ้าออกไปจาก2ปี เป็น 4ปี
วันที่ 20 เม.ย.2566 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า อนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที ) ในวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟทีสำหรับงวดพ.ค.-ส.ค.66 ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ เดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย โดยอนุกรรมการฯมีตัวแทนจากหลายส่วน อาทิ กระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลังและหนี้สินร่วมอยู่ด้วย หากได้รับความเห็นชอบจะประกาศลดค่าไฟฟ้าต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ทำหนังสือยืนยันไปยัง กกพ.และเชื่อว่า กกพ.จะเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟที งวดที่ 2 เนื่องจากอากาศร้อนจัด ประชาชนเปิดแอร์ดับร้อนกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อค่ำวานนี้ (19 เม.ย.) เวลา 20.44 น. ที่ 32,212.5 เมกะวัตต์ ซึ่งค่าไฟฟ้าเมืองไทยเป็นอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้หน่วยจำนวนมากก็ยิ่งจ่ายแพง สำหรับค่าไฟงวดนี้ (ม.ค.-เม.ย.66) ค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 4.72 บาท/หน่วย และยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐลดพิเศษให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
ส่วนงวดที่ 2 ในขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะมีส่วนใดมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ นอกเหนือจากการยืดหนี้ของ กฟผ.เพราะจากการหารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งบราว 8 พันล้านบาท รวมทั้งในขณะนี้ก็ได้มองไปถึงงวดถัดไป (งวด 3 เดือน ก.ย.-ธ.ค.66) ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยมอบให้ บมจ.ปตท. (PTT) เร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ขณะนี้ราคาต่ำ 11-13 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู มาสำรองไว้ได้หรือไม่ โดยต้องยอมรับว่างวดที่ 1 /66 นั้นราคา LNG สูงมากอยู่ที่ประมาณ 47 เหรียญ/ล้านบีทียู
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยลดลงเพราะมีการผลิตและนำมาใช้นานถึงกว่า 40 ปีแล้ว ประกอบกับช่วงการเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณจากผู้ผลิตรายเก่ามาเป็นรายใหม่ ผลิตได้ต่ำกว่าแผนงาน ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าทดแทน และยังเกิดผลกระทบหนักจากราคาพลังงานตลาดโลกก็สูงขึ้นมากในปีที่แล้วจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดย กระทรวงพลังงานได้วางแนวทางลดภาระทุกด้าน แต่สุดท้ายราคาก็ต้องสะท้อนตลาดโลกด้วย ก็ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายประหยัดพลังงานเพื่อลดภาระรายจ่ายให้ต่ำที่สุด.