“กรุงไทย” ประเมินส่งออกยังซึมต่อ ชี้ ปี 66 โตติดลบ จากพิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงไทย ประเมินส่งออกไทยยังซึมต่อ สินค้ายังอ่วมพิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ชี้ยังมีแรงกดดันหนักหวั่นฉุดส่งออกไทยปี 2566 ติดลบ ด้าน “SCB EIC” ชี้ช่อง 3 ตลาดใหม่โอกาสทองส่งออกไทย

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ประเมินว่า การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักหลายรายการยังจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลัง หลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการ work from home ลดลง ซึ่งมีผลให้สินค้าบางประเภทมีแนวโน้มอยู่ในวัฎจักรสินค้าช่วงขาลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และอาจต้องรอให้ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในไตรมาส 2/2566

“ในระยะข้างหน้าการส่งออกจึงยังเผชิญแรงกดดันและมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกอาจขยายตัวในอัตราที่ติดลบ โดยตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2566 จึงอาจต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม”

ทั้งนี้ การหดตัวติดต่อกันของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากหมวดอุตสาหกรรมที่เผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าที่อ่อนแรง รวมทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่กระทบต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักหลายหมวด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และอัญมณีฯ ประกอบกับผลสืบเนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ กดดันการส่งออกในกลุ่มพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน

ขณะเดียวกัน การส่งออกคอมพิวเตอร์ ยังเผชิญกับวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวในไตรมาสที่ 4/2565 ถึง 8% จากไตรมาสก่อน โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมข้างต้นมีสัดส่วนทั้งหมดคิดเป็น 32.9% และถือเป็นที่มาของการหดตัวรวมกันถึง 5.2%

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ได้ประเมินว่า ในระยะต่อไปการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มชะลอลงต่อตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลงมาก แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกที่จะไม่แย่ลงมากเท่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนการส่งออกให้ปรับดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปได้บ้าง

โดยในปีนี้ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในจีน หลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ในช่วงปลายปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งผ่านมายังอุปสงค์การนำเข้าสินค้ามากขึ้นในครึ่งหลังของปีกนี้ โดยเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างในช่วงต้นปีจากเทศกาลตรุษจีนที่ภาคธุรกิจหยุดยาว อีกทั้งภาคการผลิตของจีนเริ่มเห็นการฟื้นตัวแล้ว

นอกจากนี้ แม้แนวโน้มการส่งออกไทยจะเผชิญปัจจัยลบดังกล่าว SCB EIC ประเมินว่า มีตลาด 3 แห่งที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง ที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย อีกทั้ง เศรษฐกิจภูมิภาคนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก, ตลาด CLMV ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐของไทยมาก เช่น การเร่งรัดการส่งออกผ่านการค้าชายแดน รวมถึง CLMV มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีกว่าเศรษฐกิจโลกเช่นกัน และตลาดลาตินอเมริกา ที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ โดยตลาดลาตินอเมริกายังเป็นตลาดเล็กจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ยังเผชิญข้อจำกัดด้านระยะทาง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password