ธ.ก.ส.ปรับขึ้น ดบ.เงินกู้ 0.125 – 0.25% เหตุเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เริ่ม 1 ก.พ.นี้
ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ทั้ง MRR MLR และ MOR ร้อยละ 0.125 – 0.25 ต่อปี ตามมติ กนง. เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงครั้งล่าสุดในวันที่ 25 มกราคม 2566 รวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 4 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในปัจจุบัน ตามการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่ง ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทในการดูแลภาคการเกษตรและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ได้ทำการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามนโยบายกระทรวงการคลังออกไปให้นานที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้เกษตรกรและผู้ประกอบการให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงการฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ขณะเดียวกันได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อให้ผู้ฝากได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมตามภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทย ธ.ก.ส. ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.125 – 0.25 ต่อปี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.125 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 6.50 เป็นร้อยละ 6.625 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 4.875 เป็นร้อยละ 5.125 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 6.25 เป็น ร้อยละ 6.50 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ยังมีโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามปกติ และมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น มาตรการจ่ายดอกตัดต้น มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย และมาตรการทางด่วนลดหนี้ เป็นต้น เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งในและนอกระบบ ควบคู่กับการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน อันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ธ.ก.ส. ใกล้บ้านท่านทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ Call Center 02 555 0555.