‘พาณิชย์’ แนะ ‘MedTech ไทย’ ร่วมลงทุนอินเดีย ใช้ประโยชน์ PRIP ‘ผลิต-ส่งออก’ ขายสินค้ากลุ่มเทคโนฯการแพทย์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เกาะติดนโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเภสัชกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ของอินเดีย พบมีเป้าหมายเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมยา การลงทุนอุปกรณ์การแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ชี้! กลุ่ม “ธุรกิจ MedTech ไทย” มีโอกาสเข้าไปร่วมลงทุน ร่วมผลิต และส่งออกสินค้าไปขายอินเดีย

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ “ทูตพาณิชย์” ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ ล่าสุด ได้รับรายงานจาก น.ส.สัญฉวี พัฒนจักร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ อินเดีย ถึงการติดตามนโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเภสัชกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ ด้วยโครงการ Promotion of Research and Innovation in Pharma‑MedTech (PRIP) และโอกาสในการร่วมลงทุน การส่งออกเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ไปขายยังตลาดอินเดีย

โดย “ทูตพาณิชย์” ได้รายงานข้อมูลว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ประกาศโครงการ PRIP ด้วยการจัดสรรงบประมาณรวม 5,000 โครว์อินเดีย (ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมีเป้าเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมจากผลิตยาสามัญ ไปสู่การพัฒนายาที่ผ่านการจดสิทธิบัตร ชีวเภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และคาดว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนวิจัยจากทั้งภายในและต่างประเทศกว่า 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ (17,000 โครว์อินเดีย) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางคลินิก การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยร่วมกับต่างชาติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อินเดียเผชิญความท้าทายจากการพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์มากกว่า 80% โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องมือวินิจฉัย อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพทางเทคนิค และศัลยกรรม ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน สหรัฐฯ เยอรมนี และสิงคโปร์ และขาดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนายาขั้นสูง ทั้งในด้านการทดสอบทางชีวภาพ การพัฒนายาต้นแบบ และเทคโนโลยีที่มีสิทธิบัตร ทำให้ต้องพึ่งพาความร่วมมือและโครงสร้างพื้นฐานจากต่างประเทศ โครงการ PRIP จึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาด้านการนำเข้าดังกล่าว โดยส่งเสริมการลงทุนร่วมจากบริษัทต่างชาติ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการทดลองทางคลินิก พร้อมทั้งผลักดันให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการวิจัยระดับโลกในด้านยารักษาโรคมะเร็ง อุปกรณ์วินิจฉัย และชีวเภสัชภัณฑ์

สำหรับโครงการ PRIP มีงบประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นกลุ่มแรกประมาณ 84 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Centers of Excellence – CoEs) จำนวน 7 แห่ง ภายใต้ National Institute of Pharmaceutical Education & Research (NIPER) และอีกประมาณ 516 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสนับสนุนโครงการวิจัยใน 6 สาขาหลัก ได้แก่ สารออกฤทธิ์ใหม่ (NCE & NBEs) ยาสามัญซับซ้อนและไบโอซิมิเลอร์ ยารักษาโรคที่แม่นยำ (Precision Medicine) อุปกรณ์การแพทย์ ยากำพร้า(Orphan Drugs) และยาต้านเชื้อดื้อยา (AMR) โดยได้เปิดรับข้อเสนอโครงการ จากสตาร์ทอัป MSMEs บริษัท และสถาบันวิจัยที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ในช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2568

น.ส.สุนันทา กล่าวว่าไทยมีโอกาสภายใต้โครงการ PRIP ของอินเดีย ทั้งการร่วมทุนและวิจัยร่วม (Joint Ventures) โดยบริษัทไทยในกลุ่มเภสัชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (MedTech) สามารถจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับภาคเอกชนอินเดีย เพื่อวิจัยและพัฒนายาใหม่ ๆ ระบบวินิจฉัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI Diagnostics) หรือยากลุ่มไบโอซิมิเลอร์ (biosimilars) และผู้ผลิตในไทยสามารถให้สิทธิ์การใช้เทคโนโลยีที่มีสิทธิบัตร หรืออุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูงแก่บริษัทในอินเดีย โดยใช้ประโยชน์จากเงินทุนสนับสนุนและโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการ PRIP

นอกจากนี้ แม้อินเดียจะมุ่งพึ่งพาตนเองมากขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มที่บริการเฉพาะทาง เช่น การยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยา การวิเคราะห์ทางชีวสถิติ และวิจัยโดยใช้ AI อาจถูกจ้างเหมาไปยังบริษัทต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบและเครื่องมือเฉพาะทาง ที่อินเดียยังจำเป็นต้องนำเข้าเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิก ชิปวินิจฉัยชีวภาพ วัตถุดิบทางชีวภาพ และบรรจุภัณฑ์คุณภาพสูง ซึ่งล้วนเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้จัดจำหน่ายจากต่างประเทศ รวมถึงไทย

ปัจจุบัน ไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะคู่ค้าอันดับที่ 10 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567  โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์วินิจฉัยราคาประหยัด สมุนไพร และเวชภัณฑ์ทั่วไป ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสเชิงกลยุทธ์ในตลาดที่ยังต้องพึ่งพาเครื่องมือเฉพาะทาง ข้อมูลคลินิก และเทคโนโลยีที่สงวนลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ภายใต้โครงการ PRIP ของอินเดีย อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยมีโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือผ่านการร่วมทุนด้านการวิจัยยาใหม่และ AI วินิจฉัยโรค การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีสิทธิบัตร การให้บริการวิจัยและการทดลองทางคลินิกแบบจ้างเหมา ตลอดจนการส่งออกวัตถุดิบชีวภาพ อุปกรณ์เฉพาะทาง และบรรจุภัณฑ์คุณภาพสูง ซึ่งล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายของอินเดียในการยกระดับตนเองสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก” น.ส.สุนันทากล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password