‘พาณิชย์’ ยืนยัน ‘ช่วยลำไยทุกมิติ!’ พร้อมขับเคลื่อนทุกมาตรการ ดูดซับผลผลิต–ดันส่งออก

“โฆษกฯพาณิชย์” แจงรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ “จตุพร – สุชาติ” พร้อมเดินหน้าช่วยเกษตรกรลำไยแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ประกาศขับเคลื่อนทุกมาตรการ ช่วยขจัดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ในฐานะ “โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เปิดเผยว่า ตามที่มีเสียงวิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ลำไย เรื่องนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ขจัดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน โดยมอบหมายให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ให้ลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อติดตามสถานการณ์ลำไยอย่างใกล้ชิด
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน พบปริมาณผลผลิตสูงถึง 1,064,242 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณ 947,140 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 117,102 ตัน หรือ 117,102,000 กิโลกรัม เนื่องจากสภาพอากาศเย็นยาวนาน เอื้อต่อการติดดอก (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่) ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการผลไม้แบบครบวงจร 7 มาตรการ 25 แผนงาน ครอบคลุมทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปและปรับพื้นที่ให้เหมาะสม

โดยตั้งเป้าหมายระบายผลไม้ 950,000 ตัน โดยเฉพาะลำไยภาคเหนือ ทั้งนี้ นายสุชาติ ได้ลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกร และสั่งการให้ กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู ทั้งการกระจายผลผลิตและขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเพิ่มมาตรการเร่งด่วน ดังนี้
(1) เชื่อมโยงลำไยส่งออก โดยรวบรวมรับซื้อลำไย (สดช่อ) เพื่อส่งออก (2) จัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยภายในประเทศ ผ่านแคมเปญ Thai Fruits Festival 2025 (3) เชื่อมโยงลำไยผ่านเครือข่ายพันธมิตร เช่น แมคโคร โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ โก-โฮลเซลล์ และเดอะมอลล์ รวมทั้ง ห้างค้าส่ง – ค้าปลีก ให้รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง (4) สนับสนุนการซื้อผลไม้ Pre-Order และดึงภาคเอกชน ร่วมช่วยเหลือในรูปแบบ CSR เพื่อดูดซับผลผลิตต่อเนื่องตลอดฤดูกาล (5) สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ โดยให้สถาบันเกษตรกรใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ในการกระจายผลผลิตผ่านไปรษณีย์ไทย (6) เชื่อมโยงผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกรให้รับซื้อผลผลิตโดยตรง ด้วยการทำ MOU กับสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้ง และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (7) เชื่อมโยงสินค้าเข้าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อแจกเป็นของสมนาคุณ และ (8) ขยายช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ ได้แก่ จำหน่ายน้ำผลไม้สมูทตี้ผ่านตู้เต่าบินกับบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด และจับมือกับ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด แปรรูปทำเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม

นอกจากทั้ง 8 มาตรการนี้ นายสุชาติ ยังได้สั่งการให้ตั้ง War Room ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับกำหนดมาตรการฉุกเฉินในกรณีจำเป็น ได้แก่ ค่าบริหารจัดการให้โรงอบรับซื้อผลผลิตเพิ่มเพื่อรวบรวมรับซื้อลำไยรูดร่วง เพื่ออบแห้งส่งออกต่างประเทศ สำหรับด้านต่างประเทศ ได้สั่งการให้เร่งเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ๆ และกระตุ้นผู้นำเข้าในตลาดเป้าหมายหลัก ทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงเพิ่มช่องทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซควบคู่กัน ไปด้วย
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ เข้ารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ได้ให้นโยบาย “การสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดย กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะ กำหนดพื้นที่เป้าหมายจัดทำ Sandbox เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสินค้าเกษตรทุกชนิด ทั้งนี้ ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องเสถียรภาพด้านราคา กระทรวงพาณิชย์ต้องพร้อมที่จะดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้พี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เหมือนที่ผ่านมา.