พาณิชย์ปลื้ม! ยอดใช้สิทธิ FTA เม.ย.68 พุ่ง 13.46% มูลค่าทะลุ 9.3 แสน ลบ. ชี้! หนุนส่งออกโต ดันไทยแข่งขันได้ดีในเวทีโลก

กรมการค้าต่างประเทศ แจงตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ช่วง ม.ค. – เม.ย.2568 เผย! มูลค่าการใช้สิทธิ FTA รวม 28,834.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9.38 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 79.45% ระบุ! เติบโต 13.46% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูล การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า (FTA)ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2568 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA รวม 28,834.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 79.45% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 13.46% โดยเป็นการ ส่งออกไปยังอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 10,259.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 66.34% อันดับสอง เป็นการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA)มูลค่า 7,032.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 91.02% อันดับสาม ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 4,475.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 84.29% อันดับสี่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 2,062.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.57% อันดับห้า ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า  1,850.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.39%

โดยภาพรวม สินค้า 5 อันดับแรกที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ 1) ยานยนต์สำหรับขนส่งของอื่น ๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก ไม่เกิน 5 ตัน มูลค่า 2,112.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผง มูลค่า 1,655.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มูลค่า 1,138.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ4) ทุเรียนสด มูลค่า 955.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5) แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผงอื่น ๆ มูลค่า 760.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอารดา กล่าวว่า จาก FTA ทั้งหมด 12 ฉบับที่กรมการค้าต่างประเทศติดตามการใช้สิทธิฯ ในปัจจุบัน มี FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของปี 2568 รวม 6 ฉบับ ได้แก่…

1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ส่งออกไปอินเดีย) เพิ่มขึ้น 159.18% 2) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มขึ้น 23.59% 3) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพิ่มขึ้น 8.39% 4) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ส่งออกไปจีน) เพิ่มขึ้น 4.91% 5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ส่งออกไปเกาหลี) เพิ่มขึ้น 3.86% ซึ่งการใช้สิทธิ FTA ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด เป็นผลมาจากภาพรวมการส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2567 จาก 93,904.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 106,789.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

โดย สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนสด น้ำตาลที่ได้จากอ้อย ไก่ที่ปรุงแต่ง เนื้อของสัตว์ปีกเลี้ยงแช่เย็นจนแข็ง และผลไม้สด (เงาะ ลำไย ทับทิมสด) มูลค่ารวม 6,898.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 23.92% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ ทั้งหมด และสินค้าอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผง ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ แพลทินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) กึ่งสำเร็จรูปหรือเป็นผงอื่น ๆ และเครื่องปรับอากาศชนิดติดผนังหรือติดเพดาน มูลค่ารวม 21,936.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 76.08% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ ทั้งหมด

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการค้าและขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย มุ่งเน้นการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA โดย กรมการค้าต่างประเทศได้จัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล รวมทั้งหมด 10 ครั้ง โดยจัดการสัมมนาไปแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครพนม จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมการอภิปรายเรื่อง “เทคนิคการต่อยอดธุรกิจด้วย FTA” และการบรรยาย เรื่อง “การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA”

ทั้งนี้ ในส่วนของ กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างแต้มต่อในการส่งออก ช่วยลดภาษีนำเข้า ลดต้นทุนทางการค้า ทำให้สินค้าส่งออกจากไทยน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้เจรจาจัดทำ FTA ฉบับใหม่กับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย-ศรีลังกา ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ เอฟต้า ไทย-ภูฏาน โดยการใช้สิทธิฯ ผ่าน FTA

โดยทั้งหมดนี้ จะช่วยขยายตลาดการส่งออกใหม่ๆ และลดการพึ่งพาตลาดเดียวในการส่งออก โดยทางกรมการค้าต่างประเทศจะจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งที่ 9 และ 10 มีแผนที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดชลบุรีในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลการจัดสัมมนาได้ทางเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th รวมทั้งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผ่าน Facebook กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า” ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ พร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน Facebook กรมการค้าต่างประเทศ DFT” หรือที่ เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อบัญชี “@gsp_helper.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password