สนค.ชี้! ‘ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า’ มี.ค.68 ขยายตัว ส่งต่อถึงไตรมาส 2 แต่โตแบบชะลอตัว

“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เผย! ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย ช่วง มี.ค. 2568 ยังคงขยายตัว ตามความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นก่อนถึงเส้นตาย 90 วัน คาดไตรมาส 2 ยังขยายตัวแบบชะลอตัว ยอมรับ! ผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ และปัจจัยลบอื่น อาจฉุดดัชนีลงมาได้ พร้อมจับตาทุกปัจจัยเสี่ยงจากนี้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนมีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงขยายตัวตามความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม และจากการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการนำเข้าสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้า และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางด้านราคาของไทยในระยะข้างหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2568 เท่ากับ 111.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 0.6 (YoY) ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรบางกลุ่มปรับลดลง จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง และส่งผลให้สินค้าเกี่ยวเนื่องลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกยังคงปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ทองคำ ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สำหรับ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการ สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น และ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดต่างประเทศ

และ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ตามจำนวนการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความนิยมอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน ขณะที่ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 10.1 โดยเฉพาะ น้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 2.9 ได้แก่ ข้าว ตามภาวะอุปทานส่วนเกิน จากสต็อกข้าวโลกที่อยู่ในระดับสูง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการในตลาดจีนมีแนวโน้มลดลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2568 เท่ากับ 114.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 2.8 (YoY) เป็นผลจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าในหมวดสินค้าทุน วัตถุดิบ และอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้ภายในประเทศ และส่งออก โดยหมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประเทศ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.6 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล การปรับโครงสร้างการผลิต และ การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะ ทองคำ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น

สำหรับอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ แผงวงจรไฟฟ้า ตามความต้องการเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการนำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 6.1 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลจากอุปทานส่วนเกิน และความต้องการที่ชะลอตัว สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางกลุ่มสินค้าสำคัญ โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ในการผลิตและส่งออกของประเทศ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง คือ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ตามความต้องการที่ชะลอลง ประกอบกับมีการแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกในตลาดโลก

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2568 (YoY) เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้าขยายตัว ได้แก่ 1) ฐานราคาปี 2567 ในช่วงครึ่งปีแรก ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2568 2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 3) สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี และ 4) ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า 2) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค 3) ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ 4) ราคาสินค้าเกษตรลดลง จากปัญหาอุปทานส่วนเกิน 5) การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และ 6) ความผันผวนของเงินบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password