กรมพัฒนาธุรกิจฯ แจงผลรับฟังความเห็น ‘ร่างกฎกระทรวงฯซื้อหุ้นคืน’ – จับมือ ‘ตลท.- ก.ล.ต.’ มุ่งพัฒนากฎเกณฑ์เหมาะสมยิ่งขึ้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย! ผลรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งได้รับข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “ตลาดหลักทรัพย์ – สำนักงาน กลต.” วางเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางให้บริษัทสามารถดำเนินการซื้อหุ้นคืนได้อย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขอให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย กรมฯ ได้ร่วมมือกับ ตลท. และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อปรับปรุงกฎกระทรวงเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนให้บริษัทสามารถบริหารจัดการการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนและบริหารสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้ เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท ระหว่างวันที่ 12 – 27 มีนาคม 2568 ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th และเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งผลดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว พบว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสนใจในประเด็นหลัก ได้แก่ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการซื้อหุ้นคืน กระบวนการอนุมัติ และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำไปปรับปรุงร่างกฎกระทรวงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

จากผลการรับฟังความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 34 ราย โดย…

ประเด็นแรก เรื่องการยกเลิกระยะเวลาพักคอย 6 เดือน มีผู้เห็นด้วย 25 ราย หรือคิดเป็น 73.53% ขณะที่อีก 9 ราย หรือ 26.47% ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระยะเวลาพักคอย

ประเด็นที่สอง เรื่อง การเพิ่มเติมระยะเวลาในการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน มีผู้เห็นด้วย 24 ราย คิดเป็น 70.59 % ส่วนอีก 10 ราย หรือ 29.41% ไม่เห็นด้วยกับการขยายระยะเวลาจำหน่ายหุ้น

โดยผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่มองว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับบริษัทในการบริหารโครงสร้างทุน สามารถบริหารสภาพคล่องได้ดีขึ้น และเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ขณะที่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจใช้การซื้อหุ้นคืนเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุนและความชัดเจนของเงื่อนไขในการนำหุ้นที่ซื้อคืนมาใช้ในอนาคต

สำหรับ การแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงในครั้งนี้ คาดว่า จะก่อให้เกิดผลดีต่อบริษัทในการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนให้สามารถดำเนินการได้ตามสภาวการณ์ของตลาดในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ทำให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ทันทีเมื่อเห็นว่าราคาเหมาะสมโดยไม่ต้องรอ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ไม่จำกัด อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัท เปิดช่องให้เกิดการซื้อหุ้นคืนที่ต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตามกลไกตลาด และอาจถูกนำไปใช้เพื่อสร้างราคา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริง ของบริษัท กระทบต่อความสมดุลของบริษัทและการคุ้มครองผู้ลงทุน

ทั้งนี้ กรมฯให้ความสำคัญกับข้อกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย ความชัดเจนของระยะเวลาในการถือครองหุ้นที่ซื้อคืน และแนวปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว สามารถส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนได้อย่างมีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือ ซึ่ง กรมฯ จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาสรุปและวิเคราะห์ถึงผลกระทบเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายอีกครั้ง โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนพัฒนากฎหมาย 1 สำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 4471  e-Mail: legal@dbd.go.th หรือสายด่วน 1570 และ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th #SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password