ขึ้นภาษีนำเข้า 36% ฉุดเป้าส่งออกข้าวไทย หวั่นหันกินข้าวญวนแทน – ชี้! รายได้หายสูงสุด 1 ลล. ทำจีดีพี’68 ต่ำกว่าเป้า

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หวั่นอัตราภาษีใหม่ 36% ที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทย กระทบยอดส่งออกสินค้าเกษตร เผย! ราคาข้าวหอมมะลิพุ่งทันที 1,400 เหรียญ/ตัน ฉุดเป้าส่งออก 8.5 แสนตันแน่ หวั่นอเมริกันหนีข้าวแพง หันกินข้าวเวียดนามแทน จี้! ภาครัฐเร่งหาทางแก้ไขด่วน ด้าน นักวิชาการอิสระ ชี้! ผลเสียตามมาคือ ยอดส่งออกหายสูงสุด 1 ล้านล้านบาท เชื่อ! สารพัดปัญหาลบ กดจีดีพีปี’68 เหลือแค่ 2-2.4%
ที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีฯ ก็ได้ประกาศขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อบ่ายวันที่ 2 เม.ย.2568 ตรงกับเวลากลางดึกวันที่ 3 เม.ย. ของประเทศไทย โดยไทยได้ถูกประกาศขึ้นภาษีฯในอัตราใหม่ที่ร้อยละ 36

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวภายหลังทราบข่าวดังกล่าว โดยย้ำว่า อัตราภาษีดังกล่าวถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งจะทำให้การส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยที่มีสัดส่วนในตลาดสหรัฐปี 2567 สูงกว่า 850,000 ตัน สูงจากราคาปกติที่เฉลี่ยตันละ 900-1,000 เหรียญ กลายเป็น 1,400 เหรียญทันที แม้ว่าเวียดนามจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 46 แต่ยอดการนำเข้าข้าวหอมจากเวียดนามมีเพียง 40,000 ตัน/ปี ที่สำคัญข้าวของเวียดนามมีราคาถูกกว่ามาก แม้จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราใหม่ แต่ราคาเฉลี่ยก็แค่ตันละ 600-700 เหรียญ อาจทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อข้าวหอมมะลิไทยและหันไปซื้อข้าวหอมเวียดนานแทน
“อัตราภาษีใหม่ของสหรัฐได้ประกาศออกมาแล้ว เราคงต้องมาติดตามดูว่าจะเรียกเก็บภาษีทันทีเมื่อใด ดังนั้น ภาคเอกชนขอดูผลกระทบต่างๆ ก่อน แต่ก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐ เร่งหาทางช่วยเหลือหรือเจรจากับสหรัฐเป็นการเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบให้กับภาคเอกชนต่างๆ โดยหากดูปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวที่จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในหลายประเทศ ทำให้ผู้ค้าข้าวในตลาดสหรัฐนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยไปแล้วกว่า 100,000 ตัน” นายชูเกียรติ กล่าว

ด้าน นายนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับไทยในอัตราร้อยละ 36% ถือว่าค่อนข้างรุนแรง การถูกเก็บในอัตราดังกล่าวอาจทำให้มูลค่าของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ หายไปราว 7 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของส่งออกรวมของไทย และจะกดดันให้ภาคการส่งออกไทยในปี 2568 ขยายตัวแค่ 1-1.5% หรือว่าต่ำสุดในรอบ 3 ปี
“เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะเจอปัจจัยหนักทั้งเหตุแผ่นดินไหว เกิดตึกสตง.ถล่ม กระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม แล้วยังจะกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ที่เกิดกังวลต่อความปลอดภัยของตัวอาคาร หรือที่พักอาศัยสูงๆ ยังจะส่งผลกระทบต่อภาคลงทุน ที่กังวลในเรื่องคุณภาพของวัสดุที่ใช้เพื่อก่อสร้างในประเทศได้มาตรฐานหรือไม่ เมื่อบวกกับเรื่องของภาษีนำเข้าสหรัฐที่ถูกปรับสูงขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายแค่ 2-2.4% ต่ำเป้ารัฐบาลตั้งไว้ 3%” นายอัทธ์ กล่าวและว่า…
3 เหตุผลที่ “ปธน.ทรัมป์” พิจารณาปรับขึ้นภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้า เพราะ 1.ประเทศคู่ค้า จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐสูง ก็ต้องเก็บภาษีประเทศนั้นสูงตาม อย่างไทยถูกปรับเป็น 36% รองจากเวียดนามที่ถูกเก็บ 46 % 2. มุมมองถึงแนวทางปฏิบัติไม่เป็นธรรม และ 3.ลดอิทธิพลเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมจากประเทศอื่นๆ ที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มจะตอบโต้กันอย่างไร.