คลังแจง! ทุกหน่วยงานในสังกัดฯ เร่งมือผุดมาตรการ ‘เยียวยาเหยื่อ’ ผลกระทบแผ่นดินไหว

“โฆษกกระทรวงการคลัง” แจงความคืบหน้าการดำเนินการตามแถลงการณ์ของ รองนายกฯและรมว.คลัง (พิชัย ชุณหวชิร) เผย! ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง รวมถึงแบงก์รัฐ และสำนักงานคปภ. ต่างเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวปี 2568
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้า การดำเนินการตามแถลงการณ์ของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมี มาตรการที่สำคัญของกระทรวงการคลัง สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ดังนี้
1. มาตรการขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
กรมบัญชีกลางได้ขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นวงเงินในอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำนวน 200 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงาน
2. มาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
2.1 ธนาคารออมสิน
2.1.1 มาตรการแบ่งเบาภาระลูกหนี้ปัจจุบัน สำหรับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อSMEs โดยพักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
2.1.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน กู้ฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
– สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้สูงสุด 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
– สินเชื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
2.2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2568 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาทอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. เท่ากับร้อยละ 6.925 ต่อปี) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปีปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
2.2.2 โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย วงเงินต่อราย ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR – 2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
2.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
2.3.1 โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย
2.3.1.1 กรณีลูกค้าปัจจุบัน ได้รับการลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจะพักชำระหนี้ ใน 3 เดือนแรก พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 0 ต่อปี และเดือนที่ 4 – 12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลงร้อยละ 50 ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน
2.3.1.2 กรณีลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ สามารถขอกู้ใหม่หรือกู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมหรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 – 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด เดือนที่ 4 – 24 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ต่อปี
2.3.2 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2568
2.3.2.1 มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้ ในกรณีหลักประกันเสียหาย 2) กรณีได้รับผลกระทบต่อรายได้ 3) กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร และ 4) กรณีหลักประกันได้รับความเสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้
ทั้งนี้ ลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติ สามารถเข้าร่วมมาตรการที่ 3) และ 4) ได้โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณี
2.3.2.2 มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัย กรณีทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จะได้รับค่าสินไหมเร่งด่วนกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่ ธอส. กำหนด โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568
2.4 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธวพ.) หรือ SME D BANK
2.4.1 มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลาพักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และกลุ่มสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินและสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้
2.4.2 มาตรการเติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยให้สินเชื่อวงเงินกู้ร้อยละ 10 ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 7.3 ต่อปี) ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่มีหลักประกัน และยกเว้นค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
2.5 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ ไอแบงก์
2.5.1 มาตรการไอแบงก์ไม่ทิ้งกัน
ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ : สามารถขอสินเชื่อ เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตรากำไรต่ำสุดร้อยละ 1.99 ในปีแรก และระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 20 ปี
2.6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK
2.6.1 มาตรการช่วยเหลือเงินกู้ระยะสั้น ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิม วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาวผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 3 ปี
2.6.2 มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลงร้อยละ 0.50 หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 50 ในช่วง 6 เดือนแรก และพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี รวมทั้งเพิ่มวงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 6.25
2.7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
2.7.1 มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้า บสย. ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 สามารถพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันสินเชื่อเป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันถึงกำหนดชำระ
2.7.2 มาตรการพักชำระค่างวด สำหรับลูกหนี้ ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้และไม่ผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถพักชำระค่างวดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระยะเวลายื่นขอพักชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
2.8 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2.8.1 มาตรการแบ่งเบาภาระลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน ลดค่างวดร้อยละ 75 ของค่างวดปัจจุบัน (ชำระเพียงร้อยละ 25) เป็นระยะเวลา 1 ปี โดย 1) ลูกหนี้บ้านและ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน และ 2) ลูกหนี้บุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี
2.8.2 มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ ซ่อมบ้าน/กู้ ฟื้นฟูกิจการ 1) ลูกค้าบ้าน และ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน และ 2) ลูกค้าบุคคล คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี
3. มาตรการด้านการประกันภัย
• คปภ. ได้เข้าพื้นที่ประสบภัย (อาคาร สตง. แห่งใหม่) พร้อมบริษัทประกัน 4 บริษัทเพื่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ และอยู่ระหว่างประสานขอรายละเอียดส่วนบุคคลของผู้สูญหายเพื่อค้นหาในระบบฐานข้อมูลของ คปภ. พร้อมแจ้งให้บริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลืออย่างดีที่สุด
• นอกจากนี้ คปภ. อยู่ระหว่างการตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง เบื้องต้นทราบว่ามีการประกันภัยต่อไปยังบริษัทต่างประเทศ ทำให้ไม่กระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทแต่อย่างใด
• ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ประสานไปยังสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันภัยทุกบริษัท เพื่อเร่งติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ตลอดจนพิจารณาชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ คปภ. ยังได้เปิดบริการสายด่วน คปภ. 1186 เพื่อให้คำปรึกษาผู้เอาประกันภัยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนี้
1. พิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ให้ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนดได้ สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
2. พิจารณาให้วงเงินชั่วคราวฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพและระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของลูกหนี้
3. พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซม ที่อยู่อาศัย หรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องนำหลักเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ตามแนวทาง Responsible Lending มาใช้
4. ให้สามารถคงสถานการณ์จัดชั้นสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือและยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไว้ตามเดิมก่อนเกิดเหตุสาธารณภัยได้ สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว เช่น การให้สินเชื่อใหม่หรือสภาพคล่องเพิ่มเติมในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การลดเงินต้น หรือดอกเบี้ย หรือการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ เป็นต้น
“ท่านรองนายกฯและรมว.คลัง ขอให้ประชาชน นักลงทุน และผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และหน่วยงานภาครัฐพร้อมดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมหากมีความคืบหน้าเป็นลำดับในโอกาสต่อไป” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว.