‘พาณิชย์’ ปลื้ม! ตัวเลขส่งออกของไทย ก.พ.68 โตต่อเนื่อง 14% มั่นใจทั้งปีขยายตัว 3.5%

“พิชัย” นำแถลงตัวเลขการส่งออกไทย ช่วง ก.พ.2568 เผย! ยังเติบโตดีและต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เป็นบวก 14% มีมูลค่าสูงถึง 26,707.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางหลายปัจจัยที่สร้างกระทบต่อการค้าทั่วโลก ชี้! ตัวเลขส่งออกในเดือนถัดไปมีโอกาสยังเติบโตอยู่ มั่นใจเฉลี่ยทั้งปีโตแน่ 3.5%

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ว่า ขยายตัว 14% คิดเป็นมูลค่า 26,707.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 906,520 ล้านบาท ต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่โต 13.6% ทำให้เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกขยายตัวแล้วถึง 13.8% มูลค่า 51,984.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวกต่อเนื่อง 8 เดือน โดยการส่งออกเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย รัฐบาลตั้งเป้าขยายตัวเศรษฐกิจเกิน 3% และต้องการให้การส่งออกไทยเติบโตอย่างน้อย 3.5% ปัจจุบันการส่งออกขยายตัวถึง 13.8% ซึ่งเป็นสัญญาณบวก และคาดว่าเดือนมีนาคมรวมถึงเดือนถัดไปจะขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
ด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลข้างต้นมีรายละเอียดดังนี้ มูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 การส่งออก มีมูลค่า 26,707.1ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า24,718.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.0ดุลการค้า เกินดุล 1,988.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 51,984.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 51,876.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.0 ดุลการค้า เกินดุล 108.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์2568 การส่งออก มีมูลค่า 906,520 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า848,824 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.2 ดุลการค้า เกินดุล 57,696 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 1,768,887 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า1,786,936 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 ดุลการค้า ขาดดุล 18,049 ล้านบาท

ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดย สินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 1.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 35.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 25.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว จีน และมาเลเซีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 9.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และ ไอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 27.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เมียนมา กัมพูชา และออสเตรเลีย) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 14.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี เวียดนาม และสหราชอาณาจักร) และ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 22.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และแคนาดา)

ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 34.3 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ โกตดิวัวร์ แองโกลา และเซเนกัล แต่ขยายตัวในตลาดอิรัก จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และแคนาดา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 15.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และลาว) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หดตัวร้อยละ 3.7 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง และอินเดีย) และ เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ หดตัวร้อยละ 6.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ลาว และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา ฮ่องกง เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.1
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม : มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน(ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม สหรัฐฯ เม็กซิโก และอินโดนีเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 51.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 106.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ เยอรมนี สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ16.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และมาเลเซีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ออสเตรเลีย อินเดีย และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 21.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 24.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม)

ส่วน สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 13.2 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และลาว) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.1 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก จีน และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เม็กซิโก สิงคโปร์ เมียนมา และไอร์แลนด์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 46.1 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน(หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.1

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต ตลาดเอเชียใต้ขยายตัวสูงต่อเนื่องตามการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (โลหะมีค่า) ไปยังอินเดีย ประกอบกับยังมีการเร่งนำเข้าใน
ตลาดสหรัฐฯ จากความกังวลมาตรการกำแพงภาษีในอนาคต ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 18.3 จีนร้อยละ 22.4 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 4.5 แต่หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 3.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 0.5 และ CLMV ร้อยละ 1.8 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 21.2 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 129.5ตะวันออกกลาง ร้อยละ 6.7 แอฟริกา ร้อยละ 6.8 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 17.9 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 30.2 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 3.7 แต่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 7.7 และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 184.6
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 20.3

ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 22.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568ขยายตัวร้อยละ 17.9
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 3.1 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพาราเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และทองแดงและของทำด้วยทองแดง ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568 หดตัวร้อยละ 0.6
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป : กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2568 จะยังคงมีทิศทางการเติบโตที่น่าพอใจ โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งความเชื่อมั่นในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวในเชิงบวก ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับระบบการค้าโลก ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ตลอดจนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแนวทางการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรับมือกับสภาวการณ์ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ.