สนค.เปิดสถิติส่งออกสินค้าเกษตร ปี’67 โตดุ! สร้างรายได้มหาศาล – เตือนลดเสี่ยงพึ่งตลาดหลัก
“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เปิดสถิติที่สุดแห่งปี เผย! ยอดส่งออกไทยเติบโต 5.4% สร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึงกว่า 10.5 ล้านล้านบาท กลุ่มส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วนมากสุด 17.36% คิดเป็นมูลค่า 52,185.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แนะอย่าหวังพึ่งพาตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ควรเจาะตลาดใหม่ กระจายความเสี่ยง รวมถึงนำงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างการเติบโตและรายได้ยั่งยืน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และ “โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เปิดเผย “ไฮไลท์” สถิติสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ประจำปี 2567 ว่า โดยภาพรวมการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 300,529.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,548,759 ล้านบาท) ขยายตัว 5.4% ซึ่งการส่งออก สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วน 17.36% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 52,185.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,835,800 ล้านบาท) ขยายตัวที่ 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสถิติสำคัญ ดังนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร (สินค้ากสิกรรม สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง) ไทยส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่ารวม 28,827.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,014,588 ล้านบาท) ขยายตัวที่ 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2566 (ปี 2566 มูลค่ารวม 26,814.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 923,999 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2567
สำหรับ สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 6,510.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 22.58% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร (2) ข้าว 6,443.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 22.32% (3) ยางพารา 4,992.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 17.32% (4) ไก่ 4,313.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 14.96% และ (5) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 3,133.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 10.87% รวม 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 88.06% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) จีน 10,054.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 34.88% (2) ญี่ปุ่น 3,471.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 12.04% (3) สหรัฐอเมริกา 1,899.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 6.59% (4) มาเลเซีย 1,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.22% และ (5) อินโดนีเซีย 1,154.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.01% รวม 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 61.73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
ส่วน สินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ (1) สัตว์น้ำจำพวกกุ้ง ปู หอย และปลาหมึก ขยายตัว 87.1% (2) ยางพารา ขยายตัว 36.8% (3) ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง 26.6% (4) ข้าว 25.0% และ (5) เครื่องเทศและสมุนไพร 23.1%
ด้าน ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสูงที่สุด 20 อันดับแรก) ได้แก่ (1) เวียดนาม ขยายตัว 78.9% (2) เซเนกัล 69.7% (3) อิรัก 44.9% (4) ฟิลิปปินส์ 41.7% และ (5) อิตาลี 35.8%
ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร พบว่า ไทยสามารถส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 23,357.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (821,212 ล้านบาท) ขยายตัวที่ 4.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 (ปี 2566 มูลค่ารวม 22,440.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 772,669 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 3,845.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 16.46% ของมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร (2) อาหารสัตว์เลี้ยง 3,029.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 12.97% (3) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ 2,677.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11.46% (4) น้ำตาลทราย 2,382.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 10.2 % และ (5) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 2,120.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 9.08% รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 60.17% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด
ส่วน ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) สหรัฐฯ 3,437.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 14.72% (2) จีน 2,304.0 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 9.86% (3) ญี่ปุ่น 1,712.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7.33% (4) กัมพูชา 1,625.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 6.96% และ (5) เมียนมา 1,071.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.59% รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 43.46% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด
ด้าน สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) (1) อาหารสัตว์เลี้ยง 22.9% (2) กากน้ำตาล ขยายตัว 22.2% (3) นมและผลิตภัณฑ์นม 21.3% (4) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 18.3% และ (5) โกโก้และของปรุงแต่ง 16.0%
สำหรับ ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก (พิจารณาจากตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรสูงสุด 20 อันดับแรก) (1) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 27.6% (2) แคนนาดา 21.6% (3) ออสเตรเลีย 19.9% (4) สหรัฐฯ 19.7% และ (5) สหราชอาณาจักร 16.5%
“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” ยังกล่าวถึงสถิติดังกล่าวมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ ดังนี้
(1) ปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าถึง 52,185.0 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเกินกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาคเกษตรและอาหารที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) หรือมีการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งส่งเสริมและผลักดันให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารแปรรูปมูลค่าสูง สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ และสินค้าเกษตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (สินค้า GI)
(2) สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก มีสัดส่วนถึง 88.06% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 60.17% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าไม่กี่รายการ อาทิ ผลไม้ ข้าว ยางพารา ไก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง ดังนั้น ไทยจึงควรนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่หลากหลายขึ้น และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
(3) ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยพึ่งพาสูง ได้แก่ จีน (สัดส่วน 23.68% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย) สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 10.23%) และญี่ปุ่น (สัดส่วน 9.94%) ทั้ง 3 ตลาดมึสัดส่วน 43.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดของไทย ดังนั้น จึงควรหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาบางตลาดมากเกินไป รวมทั้งติดตามมาตรการทางการค้าจากจีนและสหรัฐฯ จากสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” กล่าวทิ้งท้ายว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการนำผลการวิจัยและเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และประเมินความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ อาทิ สภาพภูมิอากาศ และสงครามการค้า ทำการตลาดและเจาะตลาดใหม่ ควบคู่กับการรักษาตลาดเดิม รวมทั้ง ติดตามมาตรการการนำเข้าของประเทศคู่ค้าเพื่อวางแผนปฏิบัติตามได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งต้อง พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร การเก็บรักษา และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับการส่งออกภาคเกษตรให้เติบโต อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน.