พาณิชย์เปิดตัว ‘ฝรั่ง GI ตัวแรกในไทย’ ฝรั่งสามพราน ของเด็ด! เมืองนครปฐม
“นภินทร ศรีสรรพางค์” เดินหน้าสนับสนุนสินค้าชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ฝรั่งสามพราน” ของดีของเด่นเมืองนครปฐม รสชาติหวาน ไม่ฝาด เป็นที่นิยมของผู้บริโภค สร้างรายได้ให้แก่เกษตกรกว่า 340 ล้านบาท ปลื้ม! ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 224 สินค้า สร้างมูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ฝรั่งสามพราน” เป็นสินค้า GI ลำดับ 3 ของจังหวัดนครปฐม ต่อจากส้มโอนครชัยศรี และมะพร้าวน้ำหอมสามพราน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้
“ฝรั่งสามพราน” ปลูกเฉพาะในพื้นที่อำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ด้วยพื้นที่ลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีที่ไหลพัดพาตะกอนดินและธาตุอาหารต่างๆ มาทับถมกัน จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบบริเวณนั้นเป็นน้ำกร่อย และน้ำเค็ม จึงทำให้ฝรั่งสามพราน มีลักษณะเนื้อกรอบล่อน ไม่ติดเมล็ด รสชาติหวานหรือหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่ฝาด และโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวผลผลิตจะมีคุณภาพดีด้วยคุณภาพที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และเป็นที่รู้จักในชื่อ “ฝรั่งสามพราน”
นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้สวนฝรั่งสามพรานเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมสวนและรู้จักฝรั่งสามพรานเพิ่มมากขึ้น โดยฝรั่งสามพรานสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 340 ล้านบาทต่อปี
รมช.พาณิชย์ ย้ำว่า จากการขึ้นทะเบียน “ฝรั่งสามพราน” จึงทำให้ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 224 สินค้า สร้างมูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าผลักดันการควบคุมคุณภาพสินค้า GI เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า รวมถึงการส่งเสริมด้านการตลาด ทุกท่านสามารถร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GIได้ที่เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368
อนึ่ง สินค้า GI คือ สินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้ามีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตระหนักและให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพราะถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่มีอัตลักษณ์ และสร้างรายได้ให้ชุมชน.