‘โฆษกกระทรวงพาณิชย์’ ชวนบริโภค สร้างมูลค่าเพิ่ม เจาะโอกาสการส่งออกหอมแดงไทย
ผอ.สนค. ในฐานะ “โฆษกกระทรวงพาณิชย์” ชวนผู้บริโภคซื้อหาและบริโภคหอมแดง สร้างมูลค่าเพิ่ม หวังเจาะโอกาสส่งออกหอมแดงไทย ตั้งเป้าผลิตหอมหัวใหญ่และหอมแดง 1,000 ตัน เผย! ระยะการค้า (ปี 2569 – 2573) จะพัฒนาพื้นที่ปลูก 1,347 เฮกตาร์ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิต 14,470 ตัน ตอบสนองต่อความต้องการในประเทศได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2573
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ในฐานะ “โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เปิดเผยว่า สนค.ได้ตอบรับนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ในการติดตามเฝ้าระวังช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด เชื่อมโยงและกระจายหอมแดงออกนอกแหล่งผลิตการผลิตหอมแดงของไทย โดยข้อมูลจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปีเพาะปลูก 2566/67 มีปริมาณผลผลิต 148,239 ตัน ลดลงร้อยละ 0.72 จากปีก่อนหน้า แหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ ศรีสะเกษ (ร้อยละ 51.77 ของผลผลิตทั้งหมด) เชียงใหม่ (ร้อยละ 21.78) อุตรดิตถ์ (ร้อยละ 5.21) พะเยา (ร้อยละ 4.42) และอื่น ๆ (ร้อยละ 16.82) สำหรับปีเพาะปลูก 2567/68 คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิต 152,221 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 จากปีก่อนหน้า
สำหรับ สถานการณ์การค้าในปี 2566 พบว่า ไทยส่งออกหอมแดง ปริมาณ 15,324 ตัน เป็นมูลค่า 12.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29.38 จากปีก่อนหน้า โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย (ร้อยละ 48.31 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) เวียดนาม (ร้อยละ 18.28) สิงคโปร์ (ร้อยละ 12.53) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 7.51) และอื่น ๆ (ร้อยละ 13.38) สำหรับช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) ไทยส่งออกหอมแดงปริมาณ 14,728 ตัน มูลค่า 12.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดย มาเลเซีย ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย ได้เผยแพร่รายงาน Supply and Utilization Accounts (SUA) of Selected Agricultural Commodities (2019-2023) ระบุว่า หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่มาเลเซียพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียว
โดยในปี 2566 ความต้องการใช้หอมแดงของมาเลเซียอยู่ที่ 39,824 ตัน และชาวมาเลเซียบริโภคหอมแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของมาเลเซีย จึงได้พัฒนาการปลูกหอมหัวใหญ่และหอมแดง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้ 1) ระยะก่อนการค้า (ปี 2567 – 2568) จะสำรวจศักยภาพการปลูก จัดหาเมล็ดพันธุ์ พร้อมทั้งกำหนดและพัฒนาพื้นที่ปลูกจำนวน 100 เฮกตาร์ โดยในระยะนี้ ตั้งเป้าจะผลิตหอมหัวใหญ่และหอมแดง 1,000 ตัน และ 2) ระยะการค้า (ปี 2569 – 2573) จะพัฒนาพื้นที่ปลูก 1,347 เฮกตาร์ โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิต 14,470 ตัน ตอบสนองต่อความต้องการในประเทศได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2573
สำหรับ อินโดนีเซีย หอมแดงถือเป็นสินค้าผักสำคัญในภาคเกษตร หน่วยงานอาหารแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Bapanas) ตั้งเป้าหมายให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำการผลิตหอมแดง ที่จะมีผลผลิตปีละ 1.35 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 1.16 ล้านตัน แสดงถึงการมีผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและสำหรับการส่งออก ในปี 2566 การส่งออกหอมแดงของอินโดนีเซียไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปในทิศทางที่ดี และการส่งออกไปมาเลเซียก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกได้มากถึง 612.8 ตัน (จากเพียง 59.6 ตัน ในปี 2564 )
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามนโยบายสำคัญของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดูแลสินค้าเกษตร มุ่งหวังผลักดันราคาให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตร ผ่านกลไกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในการกำกับดูแลการค้าให้มีประสิทธิภาพ ให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาที่เป็นธรรมและคุ้มต้นทุน โดยได้ประสานผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเข้าไปรับซื้อเพื่อกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต รณรงค์การบริโภคและเปิดจุดจำหน่ายให้ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้น และได้ผลักดันหอมแดงศรีสะเกษซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นำไปใช้รังสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนการสร้างรายได้ให้เกษตรกร
ทั้งนี้ หอมแดงไทยเป็นสินค้าคุณภาพดี เป็นที่รู้จัก มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมอาหารและยา โดยมีสรรพคุณทางยาที่ใช้ในตำรับยาสมุนไพร อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญในฐานะพืชเกษตรเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หอมแดงยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก การพัฒนาการค้าสินค้าหอมแดง จึงควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและการเก็บรักษาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของตลาด อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสการส่งออกได้เพิ่มขึ้น.