‘กรมการค้าภายใน’ เตรียมลงพื้นที่ หนุนเกษตรกรปลูกกล้วยหอมส่งออกขายญี่ปุ่น

อธิบดีกรมการค้าภายในรับนโยบาย “พิชัย” เตรียมลงพื้นที่ผลักดันเกษตรกร หันมาปลูกกล้วยหอมป้อนตลาดญี่ปุ่น ที่มีต้องการสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน เผย! พรอล้อมช่วยแนะนำตั้งแต่การเพาะปลูก ควบคุมคุณภาพ และเชื่อมโยงการจำหน่าย มั่นใจดันกล้วยหอมไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น แเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯได้รับนโยบายจาก นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้สามารถส่งออกกล้วยหอมป้อนตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น เพราะญี่ปุ่นมีความต้องการบริโภคกล้วยหอมสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน โดยได้เตรียมลงพื้นที่พบปะกับเกษตรผู้ปลูกกล้วยหอม และเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชเกษตรอื่น ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการเพาะปลูก การควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่ญี่ปุ่นต้องการ และการเชื่อมโยงผลผลิตระหว่างเกษตรกรและผู้ส่งออก

ทั้งนี้ ปัจจุบันภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ญี่ปุ่นได้กำหนดโควตานำเข้ากล้วยหอมจากไทยถึง 8,000 ตันต่อปี และยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปได้ไม่มาก จนกระทั่งล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยทูตพาณิชย์ญี่ปุ่น และพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ได้นำผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากญี่ปุ่น มาเจรจาและตกลงซื้อขายกล้วยหอมได้ถึง 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จึงยังมีช่องว่างให้กล้วยหอมไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น

สำหรับ แนวทางการผลักดัน กรมฯจะนำร่องลงพื้นที่ ๆ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และจังหวัดอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกล้วยหอมเพิ่มมากขึ้น และต้องควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และจะผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเกษตรอื่น เช่น มันสำปะหลัง เพิ่มทางเลือกในการปลูกกล้วยหอม เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะมีตลาดรองรับแน่นอน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ที่กรมฯกำลังผลักดัน โดยเมื่อมีผลผลิต ก็จะประสานเชื่อมโยงให้ผู้ส่งออกเข้ามารับซื้อ และนำไปส่งออกต่อไป

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปญี่ปุ่นหารือ แนวทางการขยายการส่งออกสินค้ากล้วยหอมไปยังประเทศญี่ปุ่น และนายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์  เข้าเยี่ยมชมขั้นตอนการนำเข้าสินค้าไทย รวมถึงรับชมการสาธิตขั้นตอนการบ่มกล้วยหอมเพื่อเร่งความสุก การคัดแยกสินค้าก่อนกระจายสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ ณ ท่าเรือไดโกกุ นครโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าตลาดญี่ปุ่น มีความต้องการบริโภคกล้วยหอมสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน แต่ไทยสามารถส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้เพียงปีละ 3,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งตลาดญี่ปุ่นเปิดกว้างสำหรับกล้วยหอมของไทย แต่กระบวนการผลิต การส่งออก ต้องมีคุณภาพ มาตรฐาน และสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจากนี้ กรมการค้าภายในจะลงพื้นที่ผลักดันให้เกษตรกร เพาะปลูกกล้วยหอมเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งตลาดญี่ปุ่น มีความชื่นชอบกล้วยหอมไทย เพราะรสชาติดี มีกลิ่นหอม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password