คลังเผย! 28 ชาติประกาศใช้ กม.ภาษีส่วนเพิ่มเก็บเงินจากบริษัทข้ามชาติแล้ว ส่วนไทยเริ่ม 1 ม.ค.นี้
ไทยไม่สูญภาษีส่วนเพิ่มจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 750 ล้านยูโรอัพอีกแล้ว! หลัง ครม.เห็นชอบร่าง พรก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป ด้าน “อธิบดีกรมสรรพากร” เผย! เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด พร้อมจัดสัมมนาและสร้างบทเรียน e-Learning ให้ผู้เกี่ยวข้องแล้ว ระบุ! 28 ประเทศประกาศใช้แล้ว และมีที่กำลังจ่อเข้าอีกหลายชาติ
ด้วย กระทรวงการคลัง โดย กรมสรรพากร ได้เสนอ ร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ต่อคณะรัฐมนตรี และได้ มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2567 บัดนี้ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับ แก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษี อันเป็นการรักษาประโยชน์แห่งชาติ หากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ให้แก่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแล้วตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ เกาหลีใต้ แคนาดา ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ตุรกี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมัน สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิตาลี ไอร์แลนด์ เวียดนาม และประเทศที่คาดว่าจะมีกฎหมายใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2568 เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง
พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 นี้ใช้บังคับเฉพาะกลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโรอย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราที่กำหนด เพื่อจำกัดการแข่งขัน ทางภาษี
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ยกร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD จัดทำขึ้นการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของประเทศไทยจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของนานาประเทศ อันเป็นการลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่กลุ่ม MNEs ที่ลงทุน ในประเทศไทย
“การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจะเป็นประโยชน์แก่การส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยบนพื้นฐานของความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากนี้กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายลำดับรองกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD กำหนด สำหรับวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การยื่น GloBE Information Return และการแจ้งข้อมูล นั้น กรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม กรมสรรพากรจะจัดสัมมนาและจัดทำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้เสียภาษีและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาภาษีและผู้สอบบัญชี จึงขอให้ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์และสื่อสังคมของกรมสรรพากร” นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ส่วนเพิ่มจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ระดับ 750 ล้านยูโรขึ้นไป หรือกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโรเท่ากับ 35.52 บาท) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ ทำให้สูญเสียรายได้ส่วนเพิ่มไปไม่น้อยกว่าปีละหลายพันล้านบาท
อนึ่ง หากมีคำถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อที่ topuptax@rd.go.th.