สนพ. คาดความต้องการใช้พลังงานปี 67 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 ตาม ศก.ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผย 9 เดือนของปี 2567 (เดือนมกราคม – กันยายน 2567) ยอดใช้พลังงานขั้นต้นลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลงจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายร้อยละ 2.3 คาดการณ์การแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ของ สศช. ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 2.2 ตามลำดับ รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยหลักจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.0 การอุปโภคภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.6 ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.4 สถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนของปี 2567 (เดือนมกราคม – กันยายน 2567) พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นอยู่ที่ 2,030 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 โดยลดลงในส่วนของการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ที่ปรับตัวลดลง จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง
ในขณะที่การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากไฟฟ้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนของปี 2567 สรุปได้ดังนี้
การใช้น้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ระดับ 139 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นการเพิ่มของการใช้น้ำมันเครื่องบินและ LPG โดยการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับ 31 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของโครงข่ายรถไฟฟ้าและการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV สำหรับการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 69 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากฐานการใช้ที่สูงกว่าปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากมีนโยบายให้ใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติในช่วงต้นปี 2566 ที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูง ประกอบกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งทางบกที่ลดลง ด้านการใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ระดับ 16 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เนื่องจากความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกลับมาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้านน้ำมันเตา อยู่ที่ระดับ 5 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 13.0
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG โพรเพน และบิวเทน) อยู่ที่ระดับ 19.0 พันตันต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 46 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 รองลงมาคือ ภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 30 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ภาคขนส่ง มีสัดส่วนร้อยละ 14 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ส่วนภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 9 มีการใช้ลดลงร้อยละ 6.1 และการใช้เองซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้ลดลงร้อยละ 11.6
ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ระดับ 4,588 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า รองลงมา คือ การใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ การใช้ในอุตสาหกรรม และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ตามลำดับ ทั้งนี้ การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 12.4 และการใช้ NGV ลดลงร้อยละ 16.8
ส่วนการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ อยู่ที่ระดับ 10,033 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 10.7 โดยการใช้ ถ่านหิน ลดลงร้อยละ 12.6 จากการใช้ที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 23.2 และการใช้ในโรงไฟฟ้า SPP ลดลงร้อยละ 34.6 ขณะที่การใช้ในโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 ทั้งนี้ ในส่วนการใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 3.5 โดยการใช้ลิกไนต์ทั้งหมดเป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้ไฟฟ้า ช่วง 9 เดือนของปี 2567 รวมทั้งสิ้น 163,311 กิกะวัตต์ชั่วโมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ร้อยละ 41 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมอาหาร เหล็กและโลหะพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก ที่มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 1.6 10.5 และ 3.4 ตามลำดับ
ในส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อน ส่งผลให้มีความต้องการไฟฟ้าในเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นเพิ่มขึ้น และการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 71 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 68 ส่วนการใช้ไฟฟ้าของอะพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ขายปลีก และขายส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 5.6 7.6 และ 5.1 ตามลำดับ
ในส่วนของการคาดการแนวโน้มพลังงานของปี 2567 นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า สนพ. ได้จัดทำแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 โดยพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์พลังงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ ปี 2567 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.6 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศ สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 คาดว่าอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้คาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2,013 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งไฟฟ้านำเข้า การใช้น้ำมัน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 821 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากการใช้น้ำมันเครื่องบินตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการท่องเที่ยวภายในประเทศ การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 860 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 260 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงร้อยละ 10.0 จากการลดลงของการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม และการใช้ลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้า
และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 216,087 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปี 2566 สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงต้นปีจากภาวะเอลนีโญ(El Niño) รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคการส่งออก ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกสาขาเศรษฐกิจโดยเฉพาะสาขาธุรกิจและการใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก สนพ. จะยังคง ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.