กกร.เชื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่จีดีพีไทยโตเกินเป้าที่ 2.6-2.8% จับตาสหรัฐยุค ‘ทรัมป์ 2’ อาจสะเทือนเศรษฐกิจโลก/ไทย

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน มองเศรษฐกิจโลกปี 2567 ชะลอตัวลง คาดทั้งปีจีดีพีโลกขยายตัวแค่ 3.2% แต่ยังสูงกว่าเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6-2.8% สูงกว่าประมาณการเดิม จับตาการมาของ ว่าที่ ปธน.คนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เชื่อจะกระทบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศที่เกินดุลสหรัฐฯ เช่น จีนและอาจส่งผลสะเทือนถึงไทย มั่นใจมาตรการรัฐระยะต่างๆ พร้อมประกาศหนุนแผนเช่าที่ดิน 99 ปี และแผนแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและลูกหนี้กลุ่ม SMEs

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงข่าวหลังการประชุมฯ เมื่อช่วงสายวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 โดย ที่ประชุมฯสรุปถึงภาวะเศรษฐกิจโลก ว่า ชะลอตัวลงชัดเจน คาด GDP โลกทั้งปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำ เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคมของประเทศสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองเศรษฐกิจโลกปี 2567 ยังเติบโตได้ต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ส่วนปีหน้ามีแนวโน้มทรงตัว ทั้งนี้ยังเตือนว่าเศรษฐกิจโลกระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยหลัก ทั้ง (i) การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น (ii) อัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเร่งตัวจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ (iii) ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่แย่กว่าคาด

นอกจากนี้ ยังได้จับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ฯ โดยเชื่อว่า จะมีนัยยะต่อเศรษฐกิจไทยเบื้องต้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อสินค้าไทยที่มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ คาดว่าจะกระทบการส่งออกไทยผ่านมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าและการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกินดุลการค้าสูงและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ ยางล้อ และกลุ่มสินค้าที่เกินดุลการค้าปานกลางและมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวรวดเร็ว เช่น เครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องติดตามความคืบหน้าของนโยบายเหล่านี้ต่อไป โดยภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเตรียมหาแนวทางร่วมกันในการรับมือกับนโยบายที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่ประชุม กกร. มองว่า มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.6-2.8% สูงกว่าประมาณการเดิม จากแรงขับเคลื่อนของการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรขาขึ้นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งผลให้การส่งออกสามารถเติบโตได้ 2.5-2.9% สูงกว่าประมาณการเดิม ประกอบกับมีปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นกำลังซื้อ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและสร้างความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในระยะถัดไป เศรษฐกิจมีสัญญานการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ สะท้อนจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประกอบกับปัญหาสินค้าทุ่มตลาดที่ยังคงกดดันยอดขายของผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี และมาตรการเพิ่มกำลังซื้อคูณ 2 เช่น E-Receipt เป็นต้น ในช่วงต้นปีหน้าให้กับประชาชน รวมทั้ง การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดย กกร.สนับสนุนการปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี และจะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความเข้าใจในรายละเอียด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อระบบและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.สนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน  ตามที่ สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ทั้งรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีภาระหนี้สูง และประสบความยากลำบากในการชำระหนี้  โดยมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อ SME รายเล็ก ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูง และมีปัญหาเริ่มค้างชำระ อ้างอิงข้อมูล  ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาชั่วคราว

โดยทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดึงทุกภาคส่วนเข้าสู่ระบบ รวมถึงฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบถึงภาระและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้ไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้เกินกำลังหรือเกินความจำเป็น และเพื่อให้มีข้อมูลในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด เหมาะสมและเป็นธรรม ลดรอยรั่วที่เป็นต้นทุนแฝงในระบบ เช่น การเสริมทักษะแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นทรัพยากรขับเคลื่อนธุรกิจ SME พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการ SME เช่น มีมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการประมูลงานภาครัฐ   

สำหรับแหล่งเงินทุนในมาตรการจะมาจาก 2 ส่วนคือ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ทั้งระบบเหลือ  0.23% และเงินสนับสนุนจากภาคธนาคาร โดยรายละเอียดของมาตรการทางธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจะเสนอให้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password