สนค.ชี้! เงินเฟ้อ ต.ค.67 ปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 0.83% เหตุจาก ‘อาหาร ผลไม้ ผักสด น้ำมัน ไฟฟ้า’ สูงขึ้น คาดทั้งปีวิ่งระหว่าง 0.2-0.8%
“ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า” เผยอัตราเงินเฟ้อตุลาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.83 เหตุจากอาหาร ผลไม้ ผักสด น้ำมัน ไฟฟ้ามีแนวโน้นสูงขึ้น เพราะมีเหตุหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระบุ! เงินเฟ้อของไทยติดอันดับต่ำที่ 20 จากทั่วโลก 140 เขตเศรษฐกิจ คาดทั้งปีเกณฑ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ระหว่างร้อยละ 0.2 – 0.8
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนตุลาคม 2567 ว่า อยู่ที่ระดับ 108.61 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.72 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก การเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.61 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 20 จาก 140 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.95 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักชี ผักกาดขาว มะเขือ พริกสด กะหล่ำดอก) ผลไม้สด (เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม กล้วยหอม) ไก่สด ไข่ไก่ กุ้งขาว เนื้อสุกร และข้าวสารเจ้า กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำหวาน) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ไก่ย่าง มะนาว น้ำมันพืช หัวหอมแดง กระเทียม ปลาทู และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) และค่าถ่ายเอกสาร ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี) เป็นต้น
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2567 ลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.11 ปรับลดลงตามราคาผักสดบางชนิด อาทิ แตงกวา ผักคะน้า พริกสด มะนาว และต้นหอม ผลไม้บางชนิด อาทิ ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน ลองกอง และกล้วยน้ำว้า รวมทั้งไก่สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ และอาหารโทรสั่ง (Delivery) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ผักบุ้ง กะหล่ำปลี มะเขือ ข้าวสารเหนียว แก้วมังกร และมะม่วง และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.03 ตามการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ และของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ครีมนวดผม สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น) ค่าเช่าบ้าน น้ำมันดีเซล และค่าโดยสารเครื่องบิน เป็นต้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.26 (AoA) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (3) สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว
ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (เดือนพฤศจิกายน 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง (2) ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง และ (3) คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง – ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง
“ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.2 – 0.8 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง” ผอ. สนค. ย้ำ.