คลังดึง ‘ธปท.-ส.แบงก์ฯ’ ร่วมแก้ปมโครงสร้างหนี้ครัวเรือน มุ่งช่วยกลุ่มหนี้ ‘รถกระบะ-อสังหาฯ’
รองนายกฯพิชัย ดึงแบงก์ชาติและสมาคมแบงก์ไทยร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน พุ่งเป้ากลุ่มหนี้รถกระบะและอสังหาฯเป็นหลัก เผย! ยอดที่ต่ำ เหตุจากจีดีพีขยายตัวมากขึ้น ไม่ใช่เพราะหนี้ครัวเรือนลดลง คาดจีดีพีปี 2567 โต 2.7% มั่นใจปีหน้าแตะ 3%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” ในงานมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ ประจำปี 2567 จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ได้จัดงานประกาศรางวัลสุด “ยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน” (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2567 ว่า ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างต่ำมา โดยจีดีพีในปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.9% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% บวกลบ หากไม่มีปัญหาน้ำท่วมเชื่อว่าจะโตมากกว่านี้ ส่วนปี 2568 น่าจะขยายตัวได้ถึง 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 2% โดยก่อนจะมองโอกาสและความท้าทาย ต้องมองดูรอบๆ ว่าวันนี้เราอยู่ในสภาพไหน ต้องแก้สภาพที่มีปัญหาอยู่ และมองเงื่อนไขที่จะเดินไปข้างหน้า มีความพร้อมไหมที่จะเดินไป ถึงจะเรียกว่ามีความท้าทาย และโอกาสจะจับต้องได้หรือไม่
ส่วน ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย จาก 70-80% ปัจจุบันขึ้นมากว่า 90% กว่าต่อจีดีพี ก่อนจะปรับลดลงมาเหลือ 89% แต่ไม่ใช่เพราะหนี้ครัวเรือนลดลง เป็นเพราะจีดีพีขยายตัวขึ้นเล็กน้อยสัดส่วนจึงน้อยลง ประกอบกับ สถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งประชาชนและภาคเอสเอ็มอี สะท้อนว่า คนที่เป็นกำลังหลักของประเทศ ต่างหนี้ท่วมเหมือนกัน ขณะที่หนี้ของรัฐบาลปัจจุบันอยู่ที่ 65-66% โดยรัฐบาลพยายามรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อไม่ให้หนี้สูงและมีกรอบไว้ที่ 70% ต่อจีดีพี หรือไม่ควรจะมีหนี้เกิน 14 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท จึงเหลือช่องแค่ 1 ล้านล้านบาทเศษ ในด้าน นโยบายการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันเหลือ 2.0% แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ต่ำอีก
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น รองนายกฯและรมว.คลัง ระบุว่า จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน อย่างน้อยหนี้ไม่ลด (เท่าเดิม) หรือลดลงนิดหน่อย แต่ภาระหนี้ต้องลด ภาระการจ่ายลดลง มีโอกาสที่จะจ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง เช่นเดียวกับที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินการมา โดยใช้จังหวะที่ธนคารฯมีความเข้มแข็งมาช่วยเหลือ ทั้งนี้ ตนได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้สินในกลุ่มรถยนต์กระบะและอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินก็จะมีโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปในระบบมากขึ้น.