พาณิชย์หนุน ‘สินค้า GI ไทย’ บุกนอก! – ขึ้นทะเบียน GI ‘กระท้อนนาปริกสตูล’ มั่นใจดันสู่ตลาดโลกได้แน่

“นภินทร ศรีสรรพางค์” มั่นใจสินค้า GI ไทยหลายรายการพร้อมบุกตลาดโลก หลังพบความต้องการเพิ่มขึ้นสูง เผย! ปี 2567 สร้างมูลค่าทางการตลาดรวมเกิน 73,000 ล้านบาท ล่าสุด ขึ้นทะเบียน GI “กระท้อนนาปริกสตูล” พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดโลก สร้างรายได้สู่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “กระท้อนนาปริกสตูล” เป็นสินค้า GI ลำดับ 2 ของจังหวัดสตูลต่อจากสินค้าจำปาดะสตูล และเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ลำดับที่ 209 สร้างมูลค่าทางการตลาดกว่า 73,000 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับ “กระท้อนนาปริกสตูล” ถูกปลูกในพื้นที่บ้านนาปริกจังหวัดสตูล ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งปลูกกระท้อนที่มีมานานกว่า 30 ปี พื้นที่ใกล้ทะเล มีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน ทำให้มีแหล่งน้ำใต้ดินจำนวนมาก ปริมาณน้ำเพียงพอและมีความชื้นที่เหมาะกับการปลูกกระท้อน ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ประกอบกับกระบวนการปลูกที่พิถีพิถันของเกษตรกร ส่งผลให้กระท้อนนาปริกสตูลมีรสชาติที่หวานอร่อย เนื้อหนานุ่ม ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู ไม่เหนียว สามารถรับประทานเนื้อได้จนเกือบถึงเปลือกผล มีความโดดเด่น อัตลักษณ์ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากกระท้อนในพื้นที่อื่นๆ โดย พันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ พันธุ์อีล่า ด้วยผลใหญ่ยักษ์ เปลือกบาง ใช้ช้อนตักกินแบบสบายๆ เนื้อปุยนิ่ม อร่อยกำลังดี อร่อยจนโด่งดัง และมีชื่อเสียงแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังมี พันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์นิ่มนวล พันธุ์เขียวหวาน และพันธุ์ทับทิม ทั้งนี้ กระท้อนนาปริกสตูลนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสตูล ซึ่งถูกผลักดันให้สินค้าสามารถนำเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้

อีกทั้งยังเป็นสินค้าภูมิปัญญาที่มีการถ่ายทอดเทคนิคและวิธีการปลูกจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงคุณภาพที่ดีและความเป็นเอกลักษณ์จนถึงปัจจุบันซึ่งสร้างรายได้เข้าจังหวัดสตูลและเกษตรกรในพื้นที่ และมีการขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชนตามคำขวัญ “แหล่งกระท้อน นุ่มหวาน ดินแดนประวัติศาสตร์โบราณ ประตูอุทยานธรณี

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดที่สนใจนำสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ สามารถนำมาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password