“วิษณุ” เปิดงาน วันสถาปนาครบรอบ132ปี ยธ.ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง บริหารงานยธ.ของประเทศ

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ และ รก.รมว.ยุติธรรม เป็นประธานทำพิธีเปิด วันครบรอบกระทรวงยุติธรรม สถาปนา 132 ปี ก้าวต่อไป สู่การเป็นศูนย์กลาง การบริหารงานยุติธรรมของประเทศ

วันที่ 24 มี.ค. 2566 กระทรวงยุติธรรม จัดงานครบรอบวันสถาปนากระทรวงยุติธรรม 132 ปี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวต่อไปกระทรวงยุติธรรมสู่ทศวรรษหน้าในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน” โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโทประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ร่วมงาน โดยในช่วงเช้า มีการทำบุญแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม

นายวิษณุ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม มีประวัติอันยาวนาน นับย้อนหลังไปได้ถึงสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ที่มีการปฏิรูปราชการทั้งระบบ ภารกิจของ กระทรวงยุติธรรมถูกจัดให้มีบทบาทเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญ และมีหน่วยงานในสังกัดเพิ่มขึ้น ที่ขอยกตัวอย่างในที่นี้ คือ กรมราชทัณฑ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีภารกิจสำคัญส่งผลให้ประชาชนรู้จักกระทรวงยุติธรรมมากขึ้น อาทิ การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม การเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายในคดีอาญา และ การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นต้น จึงอยากให้ข้าราชการได้ตระหนักและทำประโยชน์ให้กับประเทศและสังคมต่อไป

สำหรับก้าวต่อไปของกระทรวงยุติธรรมสู่ทศวรรษหน้า กระทรวงยุติธรรม ควรมุ่งเน้นพัฒนาความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทั้งระบบ รวมทั้งการประสาน กับ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ ศาล หรือ การผลักดันให้สำนักงานกิจการยุติธรรม รับผิดชอบในการปฏิรูปกฎหมายในภาพรวมทั้งประเทศ สำหรับภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของความแท้จริง หรือ REAL ประกอบด้วย

1.R-Regulation กระทรวงยุติธรรมต้องเป็นหน่วยงานที่ดูแลกฎระเบียบต่างๆ แนะนำปรับปรุงกฎหมาย การสังคยานากฎหมายใหม่ ซึ่งอาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะ 2. E-enforcement การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย 3. A-Accessibility คือ การเข้าถึงกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมต้องมีหน้าที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกฎหมายได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาปรับใช้ และ 4. L- Law Abiding Citizen การทำให้ประชาชนเคารพต่อกฎหมาย การพัฒนาพฤตินิสัยภายหลังพ้นโทษ กระทรวงยุติธรรมที่มีภารกิจในการดูแลผู้ถูกคุมความประพฤติ และผู้ต้องขัง โดยการสานต่อนโยบายนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์

ต่อจากนั้น นายวิษณุ ได้มอบเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง พร้อมเกียรติบัตร ประจำปี 2566 แก่บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ หรือ ผู้ให้การสนับสนุนกิจการหรือราชการของกระทรวงยุติธรรม ชั้นที่ 1 จำนวน 3 รางวัล และ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มอบเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง พร้อมเกียรติบัตร ประจำปี 2566 แก่บุคคล ผู้ทำคุณประโยชน์ หรือผู้ให้การสนับสนุนกิจการหรือราชการของกระทรวงยุติธรรม ชั้นที่ 3 จำนวน 11 รางวัล และชั้นที่ 4 จำนวน 80 รางวัล มอบโล่รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2565 ของกระทรวงยุติธรรม จำนวน 18 รางวัล และมอบรางวัลผลงานวิจัย จำนวน 6 รางวัล จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลงานให้ความช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีกิจกรรมการบริจาคทรัพย์เข้ากองทุนยุติธรรม และกิจกรรม ” หนึ่งการให้ ได้สองเท่า” เพื่อเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนอีกด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password